องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) เรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วยกันค้นหาและช่วยเหลือผู้อพยพชาวโรฮิงญา ที่คาดว่าจะมีจำนวนมากหลายพันคน ซึ่งกำลังลอยลำอยู่กลางทะเล และมีความเสี่ยงอันตรายถึงแก่ชีวิต
การค้นหาเรือผู้อพยพชาวโรฮิงญา อาจจะใช้วิธีการนำเรือออกไปค้นหา หรือการใช้ดาวเทียม เนื่องจากหากปล่อยไว้ผู้อพยพเหล่านี้อาจจะเสียชีวิตกลางทะเล เนื่องจากขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม และปัจจัยที่จำเป็นอื่นๆ
นักรณรงค์ประเมินว่ามีผู้อพยพทางเรือมากถึง 8,000 คนจากบังกลาเทศและเมียนมา ในจำนวนนี้มีชาวโรฮิงญารวมอยู่ด้วย ซึ่งกำลังต้องการความช่วยเหลือ หลังถูกปล่อยอยู่กลางทะเล หลังทางการไทยปราบปรามเครือข่ายค้ามนุษย์และลาดตระเวนเส้นทางที่เครือข่ายใช้ลำเลียงผู้อพยพเข้าประเทศ
ขณะที่โฆษกกองทัพเรืออินโดนีเซียระบุว่า เรือของกองทัพได้ลากจูงเรือผู้อพยพออกจากน่านน้ำไปแล้ว หลังจากเรือของผู้อพยพชาวโรฮิงญาจากเมียนมา และบังคลาเทศ ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 400 คน เดินทางเข้ามาในเขตน่านน้ำของจังหวัดอาเจะห์เมื่อ 10-11 พ.ค.2558
เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียได้ให้อาหารและเชื้อเพลิงกับเรือผู้อพยพก่อนผลักดันออกไป และทางกองทัพไม่ได้บังคับว่าเรือลำดังกล่าวจะต้องมุ่งหน้าไปในทิศทางไหน เนื่องจากไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของอินโดนีเซีย ซึ่งไม่ได้เป็นเป้าหมายหรือปลายทางของผู้อพยพกลุ่มนี้ด้วย
แม้หลายฝ่ายจะมองว่าความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างชาวมุสลิมโรฮิงญากับชาวพุทธ ในเมียนมา และการที่รัฐบาลเมียนมาไม่ยอมรับคนเหล่านี้เป็นพลเมือง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวโรฮิงญายอมเสี่ยงชีวิตอพยพออกนอกประเทศทางเรือ
นายซอว์ เทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานทำเนียบประธานาธิบดีของเมียนมา ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี ระบุว่าต้นตอของปัญหาผู้อพยพโรฮิงญาเกิดจากประเทศบังคลาเทศ ซึ่งจะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ ไม่ใช่รัฐบาลเมียนมา เพราะคนเหล่านี้ไม่ใช่พลเมืองของเมียนมา