ทิศทางและบทบาทวรรณกรรมไทยในอาเซียน
ภาพการสู้ชีวิตของ ฮูยัน เด็กชายไฝ่ดีจากนวนิยาย "ผีเสื้อและดอกไม้" ที่ต้องยอมเสี่ยงเป็นหนึ่งในขบวนการลักลอบขนของเถื่อน แลกกับการหาเลี้ยงครอบครัว นอกจากสร้างความประทับใจให้นักอ่านชาวไทยจนถูกนำไปสร้างเป็นละคร และภาพยนตร์ แต่เนื้อหาที่ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตคนมุสลิม ทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้ถูกแปลเป็น ภาษามลายู และเป็นที่นิยมในหมู่นักอ่านชาวมาเลเซียไม่น้อย หากนี่เป็นผลงานวรรณกรรมไทยเพียงไม่กี่เล่มที่ถูกแปล และเผยแพร่ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน
ด้วยอุปสรรคทางภาษา และความแตกต่างทางวัฒนธรรม ทำให้ไม่ค่อยเกิดการแลกเปลี่ยนผลงานวรรณกรรมระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนมากนัก หนึ่งในหัวข้อการเสวนา "ทิศทางและบทบาทวรรณกรรมไทยในอาเซียน" เพื่อหาทิศทางนำไปสู่การแลกเปลี่ยนผลงานวรรณกรรมที่หลากหลายในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน
รศ.ตรีศิลป์ บุญขจร ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า วรรณกรรมไทยจะไปอาเซียนต้องมีการแปล
กว่า 20 ปีที่อยู่ในวงการซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือ และนำหนังสือไทยสู่ตลาดโลก ทำให้ “พิมลพร ยุติศรี” พบว่าความยากลำบากที่สุดคือการขายลิขสิทธิ์หนังสือไทยสู่ตลาดต่างประเทศ คือการหาหนังสือที่มีความเป็นสากล แต่คงเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเหมาะสมกับประเทศปลายทาง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีความละเอียดอ่อน และหลากหลายทางวัฒนธรรม
พิมลพร ยุติศรี กรรมการผู้จัดการบริษัท ทัทเทิล-โมริ เอเจนซี่ กล่าวว่า ภาคธุรกิจต้องเตรียมตัวให้พร้อม ศึกษาวัฒนธรรมของตลาดให้ดีก่อนนำเรื่องไปขาย
มกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ ปี 2555 สาขาวรรณศิลป์ กล่าวว่า รัฐต้องใส่ใจสนับสนุนการเชื่อมสัมพันธ์ผ่านวรรณกรรมมากกว่านี้ ไม่ใช่สนแค่ด้านเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ และความร่วมมือเพื่อความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ รวมถึงสังคมและวัฒนธรรม เป็น 3 เสาหลักในการพัฒนาประชาชมอาเซียน หากวงการวรรณกรรมซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการพัฒนา ยังคงไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร จึงมีคำถามว่าวรรณกรรมไทยจะไปในทิศทางใดในอาเซียน