ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"หนังสือพิมพ์จิตต์เสรี" อิสระผ่านตัวอักษร สู่การพัฒนาจิตใจของผู้ต้องขังในเรือนจำ

28 ก.พ. 56
05:28
327
Logo Thai PBS
"หนังสือพิมพ์จิตต์เสรี" อิสระผ่านตัวอักษร สู่การพัฒนาจิตใจของผู้ต้องขังในเรือนจำ

"การเดินทางของชีวิตอันโดดเดียวอ้างว้าง ไร้กำลังใจ เมื่อเธอเป็นผู้เลือกเส้นทางนี้เอง เพียงแค่เธอหลงผิดไปช่วงหนึ่งของชีวิต กลับต้องมาพบเจอกับเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่ทุกคนรอบข้างคาดไม่ถึง จากคนธรรมดาใช้ชีวิตอย่างคนปกติ อย่างมีอิสระ แต่ต้องมาอยู่ในที่แคบๆ ถูกบีบอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมไร้ซึ่งอิสระ" หนึ่งในเรื่องราวของกันญ์วรา จันทร์มาก หนึ่งในผู้ต้องขังหญิงในทัณฑสถาน จากคอลัมน์เปิดใจสารภาพ ในหนังสือพิมพ์จิตต์เสรี หนังสือพิมพ์ฉบับแรกโดยผู้ต้องขัง

 นายวสันต์ สิงคเสลิต ผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวาง เปิดเผยว่า หนังสือพิมพ์จิตต์เสรี (Free Will news) เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกซึ่งผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นผู้เขียน โดยมีจุดเริ่มต้นจากโครงการกำลังใจ ในพระราชดำริของพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งต้องการแก้ไขจิตพิสัยของผู้ขังในเรือนจำ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขัง เขียนเรียงความ และเขียนข่าวลงหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีเรือนจำเข้าร่วมโครงการ  5 เรือนจำ ได้แก่ เรือนจำกลางบางขวาง, เรือนจำกลางราชบุรี, ทัณฑสถานหญิงสงขลา, เรือนจำกาญจนบุรี และเรือนจำลำพูน และมีคณะทำงาน 50 คน โดยเป็นผู้เข้าร่วมโครงการ  "เรื่องเล่าจากแดนประหาร" ซึ่งโครงการอบรมผู้ต้องขังที่ผ่านการคัดเลือก ฝึกอบรมการเขียนข่าว และการเขียนสารคดี กับวิทยากรทางด้านสารคดี ได้แก่ นางอรสม สุทธิสาคร นักเขียนสารคดี,  นายวิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์ นักเขียนอิสระ และนายวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง นักเขียนสารคดี  โดยออกเป็นหนังสือพิมพ์ราย 3 เดือน  ปัจจุบันหนังสือพิมพ์จิตต์เสรี พิมพ์ออกมาแล้ว 4 ฉบับ และแจกจ่ายให้เรือนจำทั่วประเทศ

 
"โครงการนี้ทำให้ผู้ต้องขังมีโอกาส แสดงความคิดเห็น และมีสติมากขึ้น เรื่องราวที่ต้องการถ่ายทอดระหว่างผู้ต้องขัง เช่น เรื่องเล่าตอนที่ผู้ต้องขังได้พบญาติ, เรื่องราวจากความผิดพลาดในอดีตของผู้ต้องขัง เพื่อเตือนให้ผู้อื่นไม่กระทำความผิด  ซึ่งผู้ต้องขังที่ได้อ่านหนังสือพิมพ์มีการเปลี่ยนทัศนคติที่ดีขึ้น โดยมีการทบทวน และค้นหาตนเองมากขึ้น" นายวสันต์ สิงคเสลิต กล่าว
 
ขณะที่นพ.วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ ผู้ต้องขังเรือนจำบางขวาง และคณะทำงานกองบรรณาธิการข่าวจิตต์เสรี เปิดเผยว่า ได้เข้าอบรมโครงการเรื่องเล่าแดนประหาร รุ่นที่ 2  ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการเขียนข่าว และการจับประเด็น ทำให้ตนได้ทบทวนเรื่องราวตนเอง และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้เจริญเติบโตด้านจิตวิญญาณ และพัฒนาความคิด รวมถึงมีความสุขในการเขียนมากขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนตนไม่เคยคิดว่า การเขียนจะช่วยพัฒนาตนเองได้ ปัจจุบันโดยรับผิดชอบ บทความเกี่ยวกับสุขภาพ ในหนังสือพิมพ์จิตต์เสรีโดยใช้ชื่อว่า หมอธรรมดา
 
ปัจจุบัน นพ.วิสุทธิ์ มีผลงานหนังสือ เรื่องกว่าจะฝ่าความตาย ซึ่งเล่าเกี่ยวกับความรู้สึก เมื่อได้รับพระราชทานอภัยโทษ เหลือโทษตลอดชีวิต เป็นความรู้สึกว่าได้รับพระราชทานชีวิตใหม่จากในหลวง เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ เป็นเรื่องท้าทายเราเหมือนกันว่า เราจะพาตัวเองเดินต่อไปอย่างไร และพบว่าเราต้องใช้ชีวิตใหม่ให้มีคุณค่า ต้องสร้างชีวิตใหม่ให้ดี
 
ด้านนายภุมริน ภมรตราชูกุล (ลาวจ้าง ขษณะสมาธิ) ผู้ต้องขังเรือนจำบางขวาง และคณะทำงานกองบรรณาธิการข่าวจิตต์เสรี กล่าวว่า เหตผลที่เข้าร่วมโครงการ เพราะว่าเป็นคนชอบอ่านหนังสือ จึงสมัครเข้าโครงการเรื่องเล่าแดนประหาร รุ่นที่ 2  ซึ่งในตอนแรกรู้สึกท้อแท้ และเครียดมาก เนื่องจากไม่มีความรู้เรื่องการเขียนและการใช้ภาษาไทย และต้องเขียนบทความส่งการบ้านทุกอาทิตย์ แต่เมื่ออ่านหนังสือ ผมจะเป็นคนดี ของ วิกรม กรมดิษฐ์ ทำให้มีกำลังใจในการดำเนินชีวิต และมองโลกในแง่ดีขึ้น  นอกจากนี้ประโยชน์ของการเขียนหนังสือ คือทบทวนตนเอง รู้จักตนเองมากขึ้น, ทำให้พัฒนาด้านความคิด และกล้าเผชิญกับปัญหา ในอนาคตหลังออกจากเรือนจำ ตั้งใจจะสร้างมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือสังคม โดยไม่ลืมความผิดพลาดในอดีต และมองอนาคตไปข้างหน้า
 
ปัจจุบันลาวจ้าง มีผลงานหนังสือ เรื่องคำสารภาพสุดท้ายเข้าห้องประหาร  ซึ่งเขียนเล่าประสบการณ์ชีวิตในห้องคุมขัง เรือนจำกลางบางขวาง แดน 2 นอกจากการระลึกรู้ถึงความตายแล้ว เขายังใช้เวลาที่เหลือทั้งหมดในแต่ละวันไปกับการเขียน เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ ความพลาดพลั้ง และความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่ไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้ เพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจให้คนรุ่นหลัง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง