ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กสทช. เร่งสางปัญหา"ดาวเทียมไอพีสตาร์" ของ "ไทยคม"

Logo Thai PBS
กสทช. เร่งสางปัญหา"ดาวเทียมไอพีสตาร์" ของ "ไทยคม"

ตั้งทีมตรวจข้อกฎหมาย หาแนวทางออกใบอนุญาตใน 30 วันกำหนดหาคำตอบแนวทางการอนุญาตประกอบกิจการใน 30 วัน สังคายนาปัญหาการเป็นดาวเทียมนอกสัญญาสัมปทาน

 ข่าวจากสำนักงาน กสทช. แจ้งว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เลขาธิการ กสทช. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ได้มีคำสั่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเกี่ยวกับกรณีดาวเทียมไอพีสตาร์ (IP STAR)  ของบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีสถานะของการประกอบกิจการที่ชัดเจน โดยจะพิจารณาทั้งในส่วนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่จะต้องดำเนินการต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องการออกใบอนุญาตการประกอบกิจการ เนื่องจากตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 กำหนดไว้ชัดเจนว่า กิจการโทรคมนาคมนั้นรวมถึงกิจการซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสารด้วย ทำให้การให้บริการดาวเทียมสื่อสารในปัจจุบันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ซึ่งจะต้องมีการขออนุญาตประกอบกิจการ

 
ข่าวแจ้งด้วยว่า การดำเนินการดังกล่าวของสำนักงาน กสทช. เกิดขึ้นภายหลังจากที่นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (กสทช) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ได้ทำหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. และประธาน กสทช. แจ้งถึงกรณีปัญหาของเรื่องนี้ ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเคยมีคำพิพากษาชี้ว่า ดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมที่อยู่นอกสัญญาสัมปทาน โดยไม่เป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 และไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อการสื่อสารภายในประเทศตามวัตถุประสงค์ของสัญญาสัมปทาน 
 
ดังนั้นจึงเห็นควรมีการเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยมีประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาก็คือ การให้บริการในปัจจุบันของไอพีสตาร์ที่ใช้วงโคจรของประเทศไทยถือเป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมายหรือไม่ และ กสทช. จะพิจารณาออกใบอนุญาตให้บริษัทได้หรือไม่
 
ตามหนังสือของ กสทช. ประวิทย์ ระบุว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ตัดสินกรณีดังกล่าวในคดีที่อัยการสูงสุดกล่าวหาพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร และพวก ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 แต่ปรากฏว่าดาวเทียมไอพีสตาร์ยังคงให้บริการอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน โดยใช้วงโคจรที่ 119.5 องศาตะวันออก และไม่เคยมีการยื่นขออนุญาตเข้ามาแต่อย่างใด
 
กรณีนี้จึงเป็นอีกกรณีสำคัญที่จะต้องจับตาดูกันต่อไปว่า กสทช. จะตัดสินใจในแนวทางใดเพื่อแก้ปัญหาการให้บริการของไอพีสตาร์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการพิจารณาในราวปลายเดือนมีนาคม เนื่องจากตามคำสั่งของเลขาธิการ กสทช. กำหนดระยะเวลาปฏิบัติงานของคณะทำงานไว้ 30 วัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง