ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สทศ.เร่งตรวจสอบข้อสอบ PAT2 - ยันหากผิดพลาดจริงจะยกประโยชน์ให้ผู้สอบ

สังคม
5 มี.ค. 56
03:29
163
Logo Thai PBS
สทศ.เร่งตรวจสอบข้อสอบ PAT2 - ยันหากผิดพลาดจริงจะยกประโยชน์ให้ผู้สอบ

นักเรียนร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ ระบุว่า ข้อสอบวัดความถนัดทางวิชาการ วิชาชีพ หรือ แพต ที่เพิ่งจัดสอบไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข้อสอบผิดพลาด โดยมีคำตอบที่ถูกต้องมากกว่า 1 ข้อ เบื้องต้น สทศ.อยู่ระหว่างการตรวจสอบ พร้อมระบุว่า หากผิดพลาดจริงจะยกประโยชน์ให้ผู้สอบ

นักเรียนผู้ร่วมทดสอบวัดความถนัดทั่วไปหรือ แกต และความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือแพต ครั้งที่ 2/2556 ระหว่างวันที่ 2-5 มี.ค. โพสต์ข้อความผ่านเว็บไซต์เด็กดีดอทคอม(www.dek-d.com) ระบุถึงข้อสอบ แพต 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ ที่สอบเมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา

โดยพบว่า คำถามในพาร์ทวิชาชีววิทยา ซึ่งถามว่า เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดใดที่ทำลายเชื้อโรคด้วยวิธีฟาโกไซโทซิลเป็นหลัก ซึ่งมีตัวเลือก 4 ข้อ โดยมีคำตอบที่ถูกต้องถึง 2 ข้อ คือข้อ 3. และข้อ 4. ซึ่งนักเรียนผู้โพสต์ข้อความ ได้อ้างอิงคำตอบ ตามหนังสือสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท.

จากการโพสต์ข้อความในกระทู้ดังกล่าว พบว่า มีผู้ร่วมสอบจำนวนมากเข้ามาแสดงความเห็น พร้อมเรียกร้องให้ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือ สทศ. ออกมาชี้แจง ขณะที่นักเรียนบางคนแสดงความเห็นว่า อาจได้รับคะแนนฟรีจากความผิดพลาดครั้งนี้ เหมือนกับข้อสอบโอเน็ตที่ผิดพลาด

กรณีนี้ ศ.กิตติคุณ สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร สทศ. กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงานจาก รองศาสตราจารย์สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการ สทศ. แต่คงจะต้องขอให้คณะกรรมการออกข้อสอบกลับไปตรวจสอบข้อสอบอีกครั้ง หากมีข้อสอบผิดพลาดจริง สทศ. มีแนวทางการแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว

โดยอาจจะยกผลประโยชน์ให้แก่นักเรียนที่ตอบคำตอบในข้อใดข้อหนึ่ง หรือตอบทั้ง 2 ข้อก็จะได้คะแนน ซึ่งที่ผ่านมา สทศ.ได้กำชับคณะกรรมการออกข้อสอบให้ดำเนินการตรวจข้อสอบอย่างละเอียดมากที่สุด และอยากฝากนักเรียนทุกคนว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องดังกล่าว ขอให้รอผลการพิจารณาตรวจสอบก่อนว่า มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นจริงหรือไม่

ด้าน รศ.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการ สทศ. กล่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว แต่ตามหลักความถูกต้องและวิชาการ ต้องให้คณะกรรมการผู้ออกข้อสอบวิชาดังกล่าวเป็นผู้พิจารณา หากพบว่า มีข้อผิดพลาดจริงก็ต้องยกประโยชน์ให้เด็ก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง