ห่วงเด็ก-เยาวชนเข้าถึงการพนันง่ายขึ้น หลังพบรัฐเตรียมเดินหน้าเครื่องจำหน่ายหวยตู้ แนะออกกฎชัดเจนกำหนดอายุผู้เล่น
เสนอนำต้นแบบการจัดตั้งกองทุนในต่างประเทศมาใช้ พัฒนาสร้างการรู้เท่าทันการพนัน ด้านผู้ประกอบการย้ำพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐเต็มที่ เชื่อเยาวชนไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของธุรกิจ ขณะที่กองสลากรับข้อเสนอนำเลข 13 ตัวมาใช้จำกัดอายุผู้เล่น แต่อาจติดขัดเหตุเพิ่มต้นทุนผู้ประกอบการ
โดยโครงการขับเคลื่อนสังคมและนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาการพนัน มูลนิธิสดศรี-สฤษดิวงศ์ จัดประชุมวิชาการเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันเด็กและเยาวชนจากการจำหน่ายสลากเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัวด้วยเครื่องอัตโนมัติ โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิวงศ์ กล่าวว่า การประชุมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อระดมความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการป้องกันเด็กและเยาวชนจากกิจกรรมที่คล้ายการพนันทั้งในระดับองค์กรและระดับปัจเจก เนื่องจากมีข้อเท็จจริงจากงานวิจัยและจากการดำเนินงานของเครือข่ายระบุชัดว่าการพนันทุกรูปแบบมีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน แม้ในประเทศที่เป็นต้นแบบของการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากการพนันก็ยังพบว่าเด็กและเยาวชนยังได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ การอนุญาตให้มีการจำหน่ายสลากแบบเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัว โดยเครื่องอัตโนมัติ ซึ่งขณะนี้มีข้อมูลว่ารัฐบาลจะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างแน่นอน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเข้าถึงการพนันของเด็กและเยาวชน
ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า จากการศึกษาผลกระทบจากการจำหน่ายสลากเลขท้ายด้วยเครื่องอัตโนมัติและมาตรการป้องกันเด็กและเยาวชนในประเทศ อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย พบว่า ประเด็นเรื่องการห้ามขายสลากกับเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญอย่างเข้มข้น โดยมีการออกข้อกำหนดเรื่องอายุของผู้ซื้ออย่างชัดเจน เช่นในประเทศอังกฤษห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี ซื้อสลากโดยเด็ดขาด
ขณะที่ออสเตรเลีย แคนาดา ฮ่องกง และสิงคโปร์ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีซื้อสลากโดยเด็ดขาดเช่นกัน อีกทั้งในประเทศออสเตรเลียยังห้ามผู้ใหญ่ฝากเด็กซื้อและห้ามเด็กรับรางวัลอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานสำหรับผู้ประกอบการว่าจะต้องมีจรรยาบรรณในการทำธุรกิจคือจะต้องติดป้ายอย่างชัดเจนว่าห้ามจำหน่ายให้เด็กและเยาชน ซึ่งในประเด็นนี้ประเทศไทยยังไม่มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ
ส่วนมาตรการที่น่าสนใจที่ในหลายประเทศนำมาใช้และน่าจะเป็นต้นแบบที่ดีสำหรับประเทศไทย คือการสนับสนุนงบประมาณเพื่อนำไปจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อประโยชน์สาธารณะและให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน สร้างการรู้เท่าทันการพนัน เพื่อเป็นการป้องกันนักเล่นหน้าใหม่เข้าสู่วงจรการพนัน อาทิ กองทุน Big Lottery Fund ในประเทศอังกฤษ กองทุน Ping Wo Fund ของฮ่องกง โดยกองทุนเหล่านี้ดำเนินงานเป็นอิสระและมีคณะกรรมการมาจากหลายภาคส่วน
ขณะที่ ดร.สุรชัย ชูผกา อาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า อยากเสนอให้ชุมชนที่จะมีตู้จำหน่ายสลากได้ทำประชาพิจารณ์ร่วมกับผู้ประกอบการหรือภาครัฐ โดยจัดทำเป็น “1ชุมชน 1 ประชามติ” เพื่อหาทางออกร่วมกันและสร้างเป็นมติของชุมชนในการป้องกันเด็กและเยาวชนที่จะเข้าถึงการพนัน แต่ทั้งนี้สิ่งที่ยังเป็นห่วงคือเรื่องคนเดินโพยที่ปัจจุบันมีมากกว่า 1 แสนคน ว่าจะหาแนวทางป้องกันอย่างไร เนื่องจากคนเดินโพยสามารถเข้าถึงสถานที่ต่างๆ ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ขณะที่ตู้จำหน่ายสลากนั้นมีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างชัดเจน
ด้าน นายธนวัฒน์ พงศ์วิไล นายกสมาคมผู้ค้าสลากออนไลน์ไทย กล่าวว่า การขายสลาก 2 ตัว 3 ตัวผ่านเครื่องจำหน่ายนั้น ตัวแทนจำหน่ายทุกคนต้องผ่านการอบรมและได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานสลากอย่างชัดเจน และต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของสำนักงานกองสลากอย่างจริงจังเพื่อป้องกันการถูกยึดใบอนุญาต ทั้งนี้เห็นว่าการซื้อขายสลากของเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเด็กและเยาวชนไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของธุรกิจนี้ แต่อย่างไรก็ตามพร้อมจะให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อป้องกันนักเล่นวัยใสเหล่านี้เข้าสู่วงจรการพนัน
นางอุษา ทาบโลหะ สำนักงานกองสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า การติดตั้งเครื่องจำหน่ายสลากระบุชัดเจนว่าต้องห่างจากวัดและโรงเรียนอย่างต่ำ 100 เมตร นอกจากนี้สำนักงานสลากกินแบ่ง ยังได้ส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์จากรายได้ของสลากมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนเรื่องข้อเสนอการใช้เลข 13 หลักในบัตรประชาชนเพื่อซื้อสลากจากเครื่องนั้น เพื่อเป็นการป้องกันเด็กและเยาชน เราจำเป็นต้องหารือกันก่อนเพราะเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ เนื่องจากเครื่องจำนวน 12,000 ตู้ไม่มีโปรแกรมดำเนินการเรื่องนี้ แต่ทั้งนี้ทางสำนักงานสลากกินแบ่งก็พร้อมจะให้ร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในเรื่องนี้