วันนี้ (7 เม.ย.2568) เควิน แฮสเซทท์ ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐฯ ในฐานะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ตอนนี้มีมากกว่า 50 ประเทศแล้วที่ติดต่อเข้ามายังทำเนียบขาว เพื่อขอเจรจาการค้า หลังจากผู้นำสหรัฐฯ ประกาศมาตรการภาษีนำเข้า ที่ขนานนามว่าเป็นการปลดแอกสหรัฐฯ
เช่นเดียวกับสกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ที่ระบุว่า ตั้งแต่การประกาศมาตรการภาษีเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ทำให้ทรัมป์มีแต้มต่อ หลังจากมากกว่า 50 ประเทศพยายามขอเจรจา แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นใดเกี่ยวกับการเจรจาที่ว่า แม้ว่าในทางปฏิบัติ การเจรจากับหลายประเทศพร้อมกัน อาจเป็นเรื่องท้าทายสำหรับรัฐบาลทรัมป์ และทำให้ภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจยืดเยื้อออกไป
ท่าทีของที่ปรึกษาคนสำคัญด้านเศรษฐกิจในรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ออกมาปกป้องนโยบายภาษีล่าสุดซึ่งถูกโจมตีอย่างหนักจากทั่วโลก เกิดขึ้นท่ามกลางสภาวะตลาดที่ผันผวน ซึ่งเฉพาะในสหรัฐฯ แห่งเดียว ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ดิ่งฮวบลงเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว
นักเศรษฐศาสตร์ชี้นโยบายภาษี "ทรัมป์" ส่อทำเศรษฐกิจถดถอย
โดยในการซื้อขาย 2 วัน หลังผู้นำสหรัฐฯ ประกาศนโยบาย ปรากฏว่าหุ้นสหรัฐฯ ร่วงลงแล้วราวร้อยละ 10 ซึ่งรุนแรงกว่าที่นักวิเคราะห์และบรรดานักลงทุนคาดการณ์ไว้
นักเศรษฐศาสตร์จากเจพี มอร์แกน ประเมินว่า นโยบายภาษีจะส่งผลให้จีดีพีสหรัฐฯ ในรอบปีปรับลดลงประมาณร้อยละ 0.3 จากเดิมที่คาดว่าจีดีพีจะโตประมาณร้อยละ 1.3 ขณะที่อัตราการว่างงานจะเพิ่มจากร้อยละ 4.2 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 5.3 และยังระบุด้วยว่าโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั้งในสหรัฐฯ และในระดับโลก มีถึงร้อยละ 60 จากการประกาศนโยบายดังกล่าว
ดัชนีหุ้นซาอุฯ ดิ่งหนักสุดรอบ 5 ปีรับนโยบายภาษีทรัมป์
ผลกระทบต่อการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในสหรัฐฯ เพราะวานนี้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ซาอุดีอาระเบียปรับตัวลดลงมากกว่า 800 จุด หรือราวร้อยละ 6.78 ซึ่งถือว่าเป็นการดิ่งลงแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 ตามการรายงานของสื่อทางการซาอุดีอาระเบีย ที่ระบุว่า ดัชนีตลาดในรอบวันดิ่งลงมากที่สุดในรอบ 5 ปี และบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งต่างซื้อขายอยู่ในแดนลบ
ขณะที่หนังสือพิมพ์ด้านการเงินของซาอุดีอาระเบีย รายงานว่า ตลาดหุ้นซาอุดีอาระเบีย สูญเสียมูลค่าตลาดมากกว่า 5 แสนล้านล้านริยาล หรือประมาณ 4.6 ล้านล้านบาท ในการซื้อขายเมื่อวานนี้
เช่นเดียวกับชาติอื่นๆ แถบตะวันออกกลาง เช่น ตลาดหุ้นคูเวต ดัชนีดิ่งลงร้อยละ 5.7 / กาตาร์ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.2 และโอมานลบร้อยละ 2.6 ติดลบตามหลังตลาดอื่นๆ ในเอเชียหลายวันก่อนหน้า ส่วนตลาดหุ้นอาบูดาบีและดูไบไม่ได้เปิดตลาดซื้อขายเมื่อวานนี้
ไต้หวันยืนยันไม่ขึ้นภาษีตอบโต้นโยบายสหรัฐฯ
ท่ามกลางความผันผวนที่เกิดขึ้น ไล่ ชิง เต๋อ ประธานาธิบดีไต้หวัน ประกาศจะไม่ใช้มาตรการภาษีตอบโต้สหรัฐฯ และจะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุนในสหรัฐฯ ตราบเท่าที่ยังได้ประโยชน์
สินค้านำเข้าจากไต้หวันจะเจอภาษีร้อยละ 32 ตามการประกาศของทรัมป์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งท่าทีผู้นำไต้หวันสวนทางกับจีน ที่ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ตอบโต้นโยบายใหม่ที่ร้อยละ 34 ให้มีผลบังคับใช้วันที่ 10 เม.ย.นี้
เวียดนามส่งหนังสือขอสหรัฐฯ ผ่อนผันขึ้นภาษี 45 วัน
ส่วนเวียดนามส่งหนังสือถึงสหรัฐฯ ร้องขอการเลื่อนการบังคับใช้มาตรการภาษีออกไปอีกอย่างน้อย 45 วัน หลังจากจะเจอภาษีนำเข้าถึงร้อยละ 46 ซึ่งสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งตัวเลขการส่งออกของเวียดนามในไตรมาสแรก เติบโตขึ้นถึงร้อยละ 10.6 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
"เนทันยาฮู" มุ่งหน้าเยือนสหรัฐฯ พร้อมหารือประเด็นภาษี
อีกคนหนึ่งที่พยายามเจรจากับสหรัฐฯ ไม่ใช่ใครอื่นแต่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดอย่างเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ที่ล่าสุดออกเดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อพบปะกับทรัมป์เรียบร้อยแล้ว
โดยการพบกันของสองผู้นำที่จะเกิดขึ้นในวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่นที่สหรัฐฯ จะเป็นการเข้าเจรจากับผู้นำสหรัฐฯ เพื่อหารือผ่อนปรนประเด็นภาษีของผู้นำต่างชาติคนแรก ซึ่งเกิดขึ้นตามคำเชิญของผู้นำสหรัฐฯ ที่เจ้าหน้าที่อิสราเอลเปิดเผยว่า ออกปากเชิญเนทันยาฮูเมื่อวันที่ 3 เม.ย.จากการแสดงความวิตกกังวลเรื่องภาษีของผู้นำอิสราเอล โดยสหรัฐฯ กำหนดจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากอิสราเอลร้อยละ 17
อ่านข่าว :
ชาวอเมริกันลุกฮือ! ประท้วง "ทรัมป์-มัสก์" กำแพงภาษีระลอกใหม่
คนไทยในสหรัฐฯ เร่งรัฐบาลเจรจา หวั่นกระทบ "ทรัมป์" ขึ้นภาษี
"จีน" ตอบโต้เก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เพิ่ม 34%