สปสช.สนับสนุนตั้ง คลินิกในรพ.เพื่อดูแลผู้ป่วย
ปี 2556 จัดงบกว่า 4,000 ล้านเน้นส่งเสริม ป้องกัน เพื่อชะลอความเสื่อมของไต ดูแลครบวงจร หลังมีผู้ป่วยเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ทุกปี สะท้อนคนไทยป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมากขึ้น เน้นส่งเสริมการป้องกันควบคู่กับการดูแลรักษา
นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สิทธิประโยชน์ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายครบวงจร ให้เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ป้องกันการล้มละลายจากการเจ็บป่วยที่มีค่าใช้จ่ายสูง ครอบคลุมการบำบัดทดแทนไต ได้แก่ การผ่าตัดปลูกถ่ายไต การล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม รวมถึงการให้ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง
ทั้งนี้ ในปี 2556 สปสช.จัดสรรงบประมาณการบำบัดทดแทนโรคไตวายเรื้อรังจำนวนกว่า 4,357 ล้านบาท โดยตั้งเป้าจะมีผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 31,434 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องจำนวน 16,513 ราย การฟอกเลือดจำนวน 13,757 และการผ่าตัดเปลี่ยนไตจำนวน 156 ราย ผู้ป่วยที่ต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน 1,008 ราย ซึ่งล่าสุดข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2556 มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 24,221 คนแบ่งเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการล้างไตผ่านช่องท้องแล้ว จำนวน 12,487 ราย การฟอกเลือดแล้ว10,737 รายผ่าตัดเปลี่ยนไตและได้รับยากดภูมิจำนวน 986 ราย ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยมีค่าใช้จ่ายในการบำบัดทดแทนไตประมาณ 200,000 บาทต่อคนต่อปี
นพ.วินัยกล่าวว่า นอกจากการรักษาพยาบาลแล้ว สปสช.ได้ส่งเสริมให้มีเครือข่ายผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในโรงพยาบาล ปัจจุบันมีชมรมผู้ป่วย 47 แห่ง เพื่อพัฒนาเครือข่ายผู้ป่วยให้เข้มแข็ง ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคไตเข้าถึงการรักษา มีความรู้ ความมั่นใจในการดูแลตนเองตามมาตรฐาน สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย และครอบครัว ทำให้เข้าใจสิทธิการรักษา ลดปัญหาความขัดแย้ง และเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการได้อีกทางด้วย รวมถึงการส่งเสริมการป้องกันโรค การตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เพื่อไม่ให้ป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เนื่องจากเป็นสาเหตุสำคัญของการเป็นไตวาย หากป้องกันไตวายจะช่วยชะลอไตเสื่อมก่อนเวลาได้ และสนับสนุนให้มีการตั้งคลินิกเฉพาะในรพ. อีกด้วย
ส่วนผลการดำเนินงานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552-2555 มีผลการดำเนินงานเกินเป้าหมายทุกปี สะท้อนคนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายกันมาก จากพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ทั้งในภาพรวมและการบำบัดรักษาในผู้ป่วยล้างไตผ่านทางช่องท้อง และผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โดยภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งในปี 2555 ที่ผ่านมาสปสช.จัดสรรงบกองทุนบริการสุขภาพผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง มีจำนวน 3,857 ล้านบาท โดยมีผู้รับบริการในปีงบประมาณ 2555 ทั้งสิ้น 27,253 คน แบ่งเป็น การล้างไตผ่านช่องท้องมีจำนวน 14,609 คน และการฟอกเลือดด้วยเครื่องมีจำนวน 11,515 คน ขณะที่การผ่าตัดเปลี่ยนไตและได้รับยากดภูมิคุ้มกันมีจำนวน เพียง 1,129 คนเนื่องจากว่ามีผู้บริจาคไตจำนวนไม่มาก
เลขาธิการสปสช. กล่าวต่อว่า นโยบายของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น เน้นการส่งเสริมการล้างไตผ่านทางช่องท้อง เนื่องจากมีความสะดวกต่อผู้ป่วยและสถานพยาบาล เหมาะสมกับสังคมไทยที่มีจำนวนเครื่องฟอกไตเทียมไม่เพียงพอ โดยเริ่มตั้งแต่ การผ่าตัดวางสายล้างช่องท้อง การดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนน้ำยาล้างไตโดยส่งให้ทางไปรษณีย์ให้กับผู้ป่วยที่ล้างไตผ่านช่องท้อง และการให้ยาพื้นฐาน ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ยารักษาโรคอื่นที่จำเป็น และการรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการรักษา ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติได้ที่บ้านด้วยตนเอง เพื่อเตรียมผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายให้มีความพร้อมจนกว่าจะสามารถรับบริการปลูกถ่ายไต
โดย องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันพฤหัสบดีที่สองของเดือนมีนาคม ทุกปีเป็น "วันไตโลก" (World Kidney Day) และในปีนี้วันที่ 11 –17 มีนาคม 2556