ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พิธีสาบานตน "โดนัลด์ ทรัมป์" บอกนัยอะไรให้กับโลก?

ต่างประเทศ
20 ม.ค. 68
13:35
244
Logo Thai PBS
พิธีสาบานตน "โดนัลด์ ทรัมป์" บอกนัยอะไรให้กับโลก?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อีกไม่กี่ชั่วโมงนี้แล้วที่ "โดนัลด์ ทรัมป์" จะก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ อย่างเต็มตัว ท่ามกลางการจับตามองว่า ใครจะเดินทางมาเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยที่ 2 ของ "ทรัมป์" บ้าง

ที่ต้องจับตาดูมีทั้งผู้นำอิตาลีที่ถูกมองว่าจะมาเป็นกาวใจระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ กับผู้นำยุโรปชาติอื่นๆ รวมถึงนักการเมืองฝ่ายขวาจัด และที่ต้องพูดถึงก็คือ ตัวแทนจากจีน

ตามธรรมเนียมแล้ว พิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะให้ความสำคัญไปที่เรื่องในประเทศเป็นหลัก ส่วนการเชิญแขกต่างชาติก็มักจะเป็นนักการทูตที่ประจำการในสหรัฐฯ ซึ่งก็จะมาร่วมงานนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำคนใหม่ แต่โดนัลด์ ทรัมป์เป็นคนหนึ่งที่มักจะทำอะไรที่แหกขนบมาโดยตลอดอยู่แล้ว ซึ่งครั้งนี้ก็ไม่เว้น

อ่านข่าว : เปิดกำหนดการ-คำสาบานตน "โดนัลด์ ทรัมป์" รับตำแหน่ง ปธน.สหรัฐฯ

ความแตกต่างแรกของพิธีสาบานตนของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในครั้งนี้เป็นปัญหาเรื่องดินฟ้าอากาศ เนื่องจากมีการพยากรณ์ว่า ในวันจัดงาน อากาศในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จะหนาวยะเยือก โดยมีอุณหภูมิต่ำสุดติดลบ 11 องศาเซลเซียส และมีลมหนาวด้วย ทำให้ทรัมป์ตัดสินใจย้ายเวทีจัดงานเข้าไปอยู่ภายในอาคารรัฐสภาแทน

และถือเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี นับตั้งแต่พิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของโรนัลด์ เรแกน จากรีพับลิกัน เมื่อปี 1985 ซึ่งแขกผู้ทรงเกียรติต้องหนีหนาวเข้าไปแออัดกันภายในอาคารที่รองรับคนได้ไม่กี่ร้อยคนเท่านั้น

โดนัลด์ ทรัมป์ และ จอร์เจีย เมโลนี

โดนัลด์ ทรัมป์ และ จอร์เจีย เมโลนี

โดนัลด์ ทรัมป์ และ จอร์เจีย เมโลนี

จับตานายกฯอิตาลี กาวใจประสานรอยร้าว

เรื่องของการย้ายสถานที่จัดพิธีอาจจะไม่แปลกอะไรมากนัก แต่การที่ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ ออกปากเชิญผู้นำชาติอื่นๆ เข้าไปร่วมงานนี้ด้วยตัวเองก็เป็นเรื่องที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แถมผู้นำหลายๆ คน ยังรับปากว่า จะมาร่วมงานด้วยอีกต่างหาก โดยคนแรกที่ต้องพูดถึง คือ จอร์เจีย เมโลนี นายกรัฐมนตรีอิตาลี

ซึ่งแม้ว่าทั้งคู่จะรู้จักกันได้ไม่นาน แต่ทั้งคู่มีภาพที่ถ่ายคู่กันเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ตอนที่ผู้นำอิตาลีเข้าพบทรัมป์ที่ Mar-A-Lago ในฟลอริดา โดยถือเป็นการพบกันครั้งที่ 2 ของทั้งคู่ นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นสะท้อนชัดเจนถึงความสัมพันธ์อันดีของทั้งคู่

ความสนิทสนมที่ดูจะเข้ากันได้ของทั้งคู่ ทั้งเรื่องแนวคิดทางการเมืองและความสัมพันธ์อันดีกับอีลอน มัสก์ ทำให้หลายคนมองว่า เมโลนีจะเข้ามาเป็นกาวใจประสานรอยร้าวระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ กับผู้นำอื่นๆ ในชาติยุโรปได้หรือไม่ หลังจากความสัมพันธ์ของสองฝ่ายระหองระแหงกันมาตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ นั่งเก้าอี้ผู้นำสมัยแรก

นายกฯฮังการีปฏิเสธคำเชิญ

แต่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งยังมองว่า ยุโรปไม่ควรหวังพึ่งความช่วยเหลือจากผู้นำอิตาลีมากจนเกินไป เนื่องจากในท้ายที่สุดแล้ว ผู้นำที่มีแนวคิดขวาจัดคนนี้ น่าจะเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์กับอิตาลีมากกว่าการให้ความสำคัญกับยุโรป

ด้านวิกเตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการี ก็เป็นผู้นำอีกคนหนึ่งที่ได้รับคำเชิญ แต่ก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมงานนี้ โดยระบุว่า ตามธรรมเนียมจะไม่ไปร่วมพิธีสาบานตนของผู้นำชาติอื่น ขณะที่เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ไม่ได้รับเชิญ

จุดนี้ต่างจากนักการเมืองขวาจัดของยุโรปที่ได้รับเกียรตินี้ ทั้งเอริค เซมมัวร์ ฉายาทรัมป์แห่งฝรั่งเศส ไนเจล ฟาราจ ของอังกฤษ แกนนำพรรค AfD ในเยอรมนี ไปจนถึงนักการเมืองขวาจัดในสเปน โปรตุเกสและโปแลนด์ โดยรายชื่อแขกเหล่านี้ ชี้ว่า นักการเมืองยุโรปสายกลางที่เป็นกระแสหลัก กำลังถูกลดความสำคัญลงในสายตาของโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างชัดเจน

"สี จิ้นผิง" ส่งรองประธานาธิบดีร่วม

คำเชิญไหนก็ไม่สำคัญเท่ากับการที่ทรัมป์ออกปากเชิญสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งคนในรัฐบาลทรัมป์ชุดใหม่ ระบุว่า ทรัมป์กำลังส่งสัญญาณเปิดกว้างที่จะเจรจากับจีน แต่คำเชิญนี้น่าจะทำให้ผู้นำจีนต้องคิดหนักพอสมควร เพราะเป็นการเชิญที่ค่อนข้างกระชั้นชิด ซึ่งตามปกติแล้ว การวางแผนเยือนต่างประเทศของเจ้าหน้าที่ระดับสูงจีนต้องใช้เวลาเตรียมการนานหลายเดือน

แต่เมื่อเชิญมาแล้ว จีนจะไม่ส่งใครไปเลยก็อาจจะดูไม่ค่อยเหมาะสักเท่าไหร่ เพราะสำหรับทรัมป์แล้ว การที่จีนปฏิเสธ นั่นอาจจะหมายถึงการไม่ให้เกียรติกัน ดังนั้นผู้นำจีนจึงมอบหมายให้รองประธานาธิบดีเดินทางไปร่วมงานดังกล่าวแทน

หาน เจิ้ง ก้าวขึ้นรับตำแหน่งรองประธานาธิบดีจีน เมื่อปี 2023 โดยตำแหน่งนี้ไม่ได้มีอำนาจอยู่ในมือมากนักและมีบทบาทในเชิงสัญลักษณ์มากกว่า ดังนั้น นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งจึงมองว่า หานถือเป็นตัวเลือกที่ชาญฉลาด เพราะนอกจากจะเป็นการไว้หน้าทรัมป์แล้ว ยังไม่ดูเป็นการศิโรราบต่อสหรัฐฯ อีกด้วย

ซีอีโอ TikTok ได้รับเชิญร่วมพิธีสาบานตน

ส่วนคนที่ได้รับเชิญและถูกจับตามองมากอีกคนหนึ่ง หนีไม่พ้น ซีอีโอของ TikTok ซึ่งในระยะหลังๆ มานี้เข้าหาทรัมป์อยู่หลายครั้ง หลังจากว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ แสดงท่าทีสนับสนุนการระงับกฎหมายแบน TikTok โดยล่าสุด ทรัมป์ ระบุว่า จะออกคำสั่งฝ่ายบริหารในวันแรกที่เริ่มทำงาน เพื่อชะลอการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว จะได้มีเวลาในการเจรจาบรรลุข้อตกลง พร้อมทั้งเสนอให้สหรัฐฯ เข้าไปเป็นหุ้นส่วนด้วย 50%

ทั้งหมดเป็นเพียงรายชื่อแขกคนสำคัญๆ ส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งแม้จะดูแปลกที่พิธีสาบานตนในสหรัฐฯ รอบนี้จะมีผู้นำประเทศอื่นๆ เข้าร่วมด้วย แต่สำหรับทรัมป์ พิธีนี้คือโชว์ชุดใหญ่ที่ต้องการให้โลกได้เห็นเต็มๆ ตาว่าเขาได้กลับมาครองบัลลังก์แล้ว

อ่านข่าว :

สหรัฐฯ ยกระดับความปลอดภัยรับพิธีสาบานตน "ทรัมป์"

ผู้ประท้วงหลายพันคนรวมตัว ก่อนพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของ "ทรัมป์"

"แจ็ค สมิธ" อัยการพิเศษ ชิงลาออกก่อน "ทรัมป์" รับตำแหน่ง ปธน.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง