ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กระแสเพลงเร็กเก้ต่อต้านวาติกัน

ศิลปะ-บันเทิง
16 มี.ค. 56
14:23
192
Logo Thai PBS
กระแสเพลงเร็กเก้ต่อต้านวาติกัน

ขณะที่คริสตศาสนิกชนทั่วโลกต่างยินดีกับการแต่งตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ แต่อาจไม่ใช่กับศิลปินแนวเร็กเก้ของจาไมก้าซึ่งมีประวัติในแต่งเพลงต่อต้านอำนาจของวาติกันมาอย่างยาวนาน ตามความเชื่อของขบวนการราสตาฟารีที่ศิลปินเร็กเก้ส่วนใหญ่ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต

คนนับพันมาชุมนุมกันเพื่อมองหาควันสีขาว ด้วยความแปลกใจ พวกเขาพบแต่ควันดำ ไม่มีอีกแล้วควันสีขาว ความหวังของพวกเขาหมดสิ้นลง คือเนื้อหาจาก Baffling Smoke Signals บทเพลงต่อต้านการปกครองของนิกายโรมัน คาทอริคซึ่งมีกรุงวาติกันเป็นศูนย์กลาง โดย ลี เพอร์รี ตำนานศิลปินเร็กเก้ โดยมีการเอ่ยถึงวาติกันว่าเป็นเมืองแห่งความอยุติธรรม

เหตุผลที่ให้เขาแต่งเพลงที่มีเนื้อหาโจมตีวาติกันครั้งนั้น มาจากความเคลือบแคลงต่อการสิ้นพระชนม์อย่างปริศนาของ สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 1 ที่จากไปขณะทรงงานในห้องพักส่วนตัว หลังดำรงตำแหน่งในฐานะประมุขสูงสุดของนิกายโรมัน คาทอริคได้เพียง 33 วัน

ท่ามกลางข้อสันนิษฐานถึงประเด็นเสวยยาเกินขนาดจนถึงการลอบปลงประชนม์ ซึ่งกฎห้ามการชันสูตรพระศพ ทำให้สาเหตุการสิ้นพระชนม์ยังคงเป็นปริศนาจนทุกวันนี้ โดยเพลง Baffling Smoke Signals ถูกผลิตออกมาในรูปแบบแผ่นเสียงที่เล่นด้วยความเร็ว 33 เศษหนึ่งส่วน 3 รอบต่อนาที ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการอุทิศให้กับเวลา 33 วันที่พระสันตะปาปาองค์ที่ 263 ได้มีโอกาสอยู่ในตำแหน่ง

การที่ ลี เพอร์รี เป็นทั้งนักร้อง และโปรดิวเซอร์ผู้มีอิทธิพลในจาไม่ก้า ทำให้แนวคิดต่อต้านวาติกันของเขาเผยแพร่ไปยังผลงานของศิลปินเร็กเก้ช่วงปลายยุค 70 จนถึงต้นยุค 80 ทั้ง แม็กซ์ โรเมโร จากเพลง Fire Fe the Vatican ที่นำแรงบันดาลใจเรื่องวันพิพากษาครั้งสุดท้ายจากพระธรรมวิวรณ์มาจินตนาการถึงการล่มสลายของวาติกัน

วง Trinity กับเพลงที่จำลองเหตุการณ์ปลงประชนม์พระสันตะปาปาใน Pope Paul Dead and Gone ดีเจ Toyan กับเพลง Pope in a di Corner ที่เปรียบตนเองเป็นเดวิดผู้กล้า ที่ต่อกรกับสันตะปาปาที่เป็นยักษ์โกไลแอธ แม้แต่ศิลปินเร็กเก้รุ่นใหม่อย่าง Anthony B ก็นำแนวคิดต่อต้านวาติกันมาสู่เพลง Fire Pon Rome ซิงเกิลปี 1996 ที่ร้องถึงจุดจบทางอำนาจของวาติกัน และกรุงโรม

การต่อต้านอำนาจทางศาสนาจากตะวันตก ส่วนหนึ่งมาจากแนวคิดของขบวนการราสตาฟารีซึ่งเป็นความเชื่อทางจิตวิญญาณของศิลปินเร็กเก้ในจาไม่ก้า ที่เชื่อว่าพระจักรพรรดิเฮลี เซลาสซีที่ 1 แห่งเอธิโอเปียคือพระเยซูที่มาเกิดใหม่ในร่างมนุษย์ ซึ่งมีแนวคิดปฏิเสธอารยธรรมของชาติตะวันตก โดยมองว่าเนื้อหาในคัมภีร์ไบเบิลถูกบันทึกเพียงส่วนที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มคนที่ดำรงอำนาจ และส่วนที่หายไปคือประวัติศาสตร์ที่สูญหายของชนชาติแอฟริกัน ซึ่งมีความสำคัญในฐานะดินแดนต้นกำเนิดของมนุษยชาติ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง