เครือข่ายวิชาชีพสาธารณสุข ยื่นคำขาด
การรวมตัวกันของเครือข่ายสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข และชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ที่หน้าอาคารรัฐสภา เพื่อเรียกร้องให้มีการเร่ง พิจารณาผ่านร่างพระราชบัญญัติ หรือ พ.ร.บ. วิชาชีพสาธารณสุข ถูกจับตามองอย่างมากจากสังคม เนื่องจากการเรียกร้องครั้งนี้ มีการยื่นคำขาด ขอให้เร่งพิจารณาก่อนปิดสมัยประชุมนิติบัญญัติ วันที่ 18 เมษายนนี้ ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการ จะงดให้บริการด้านสาธารณสุขจากประชาชน
สิ่งที่น่าเป็นห่วงนอกเหนือไปจากกฎหมายที่รอการพิจารณา คือ คำขู่หยุดให้บริการด้านสาธารณสุข ซึ่งแม้ครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุข ออกมาเรียกร้องพร้อมคำขู่ในลักษณะนี้ แต่ต้องยอมรับว่า ปัญหาดังกล่าว สร้างความกังวลใจให้กับประชาชน
ด้าน นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ตัวแทนที่รับหนังสือเรียกร้องดังกล่าว ระบุว่า ขณะนี้ การพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ใน ชั้นของกรรมาธิการร่วมกันของสองสภาฯ แต่เนื่องจากผู้อำนวยการกองกฎหมายดังกล่าวเดินทางไปต่างประเทศ จึงยังไม่สามารถเรียกประชุมได้ และนัดหมายให้ประชุมกัน วันที่ 27 มี.ค.นี้ เบื้องต้นจะประสานนำหนังสือและข้อเรียกร้องดังกล่าว ให้กรรมาธิการร่วมฯ พิจารณาต่อไป
สำหรับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีการเสนอให้พิจารณาตั้งแต่ปี 2552 ก่อนที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะมีการพิจารณาในปี 2554 และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมของคณะกรรมาธิการ ซึ่งผู้เสนอร่างกฎหมายยังไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการในหลายประเด็น ทั้งการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล ที่ทำหน้าที่แทนแพทย์ในการรักษาเบื้องต้นอยู่แล้ว แต่คณะกรรมาธิการมีแนวโน้มว่า อาจตัดคำนิยามดังกล่าวออกไป เป็นต้น
ส่วนกระแสที่เชื่อมโยงมาสู่ข้อเรียกร้องในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ คือ การที่กระทรวงสาธารณสุข จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในการเปลี่ยนจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร จากจ่ายแบบอัตราเดียวกันทุกพื้นที่ ทุกหน่วยงาน เป็นการจ่ายตามผลปฏิบัติงาน ซึ่งผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขกังวลว่า อาจมีการปรับลดเบี้ยงเลี้ยงเหมาจ่าย หรือเบี้ยเลี้ยงกันดาร เพราะจะใช้วิธีการพิจารณาจากภาระงานแทน
กรณีนี้ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า หลักเกณฑ์การจ่ายเงินค่าตอบแทนแบบใหม่ จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในสัปดาห์หน้า เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน โดยยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการปรับลดเบี้ยเลี้ยง แต่เป็นการจัดระบบวิธีการจ่ายเงินตามพื้นที่ที่ต้องรับผิดชอบ
สำหรับแนวทางของกลุ่มผู้ให้บริการสาธารณสุข ทั้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ยืนยันว่า หากไม่มีการพิจารณาหลักเกณฑ์ให้มีความเหมาะสม รวมถึงยังไม่เร่งผลักดัน พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุข ก็จะมีการแต่งชุดดำประท้วงในวันที่ 26 มีนาคม พร้อมนัดหยุดงานในวันที่ 9-11 เมษายน เป็นเวลา 8 วัน โดยสถานบริการสาธารณสุขจะมีแพทย์ทำงานเพียง 1 คนเท่านั้น