จนท.ประมงรื้อถอนโพงพางในจ.นครศรีธรรมราช
ชาวประมงโพงพาง อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช นำเรือจอดเรียงแถวป้องกันแนวช่องโพงพาง เพื่อขัดขวางเจ้าหน้าที่ประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 100 นายที่เข้ารื้อถอนโพงพาง แต่การขัดขวางก็ไม่เป็นผลเมื่อเจ้าหน้าที่สามารถรื้อถอนโพงพางได้ทั้งหมดจำนวนเกือบ 400 ช่อง โดยเมื่อ 3 เดือนก่อนหน้านี้ กรมประมงได้รื้อถอนโพงพางไปแล้วกว่า 500 ช่อง แต่ยังไม่สามารถจ่ายเงินชดเชย หรือจัดหาอาชีพใหม่ให้กับชาวประมงได้ตามข้อตกลงว่าหากมีการรื้อถอนจะต้องมีการเยียวยาให้กับชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ
พระราชบัญญัติประมงปี 2490 มาตรา 31 ระบุว่าห้ามมิให้บุคคลใดตรึงปักเครื่องมือประจำที่ ในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาติจากเจ้าพนักงาน ซึ่งโพงพางถือว่าเป็นเครื่องมือประจำที่ ซึ่งสามารถติดตั้งได้ในทุกระดับความลึกของน้ำสามารถอ่อนตัวไปตามกระแสน้ำขึ้นลง ที่สำคัญโพงพางไม่สามารถคัดแยกชนิดและขนาดของสัตว์น้ำได้จึงส่งผลกระทบต่อพันธุ์สัตว์โดยรวม
อ่าวปากพนังเป็นศูนย์รวมทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งภาคการประมงขนาดใหญ่ ที่ขนส่งสัตว์น้ำจากกลางทะเลลึกเข้าสู่ฝั่ง การขนส่งน้ำมันเข้ามายังคลังน้ำมันริมแม่น้ำปากพนัง บางภาคส่วนจึงเห็นว่าการมีอยู่ของโพงพาง ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของจังหวัดนครศรีธรรมราช
กองโพงพางจำนวนมากยังถูกเก็บไว้ในหมู่บ้านชาวประมง ในพื้นที่ต.คลองน้อย อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อรอลงไปปักเสาโพงพางใหม่ แม้จะรู้ว่ามีความเสี่ยงต่อการถูกรื้อถอนซ้ำอีก แต่ทางเลือกในการประกอบอาชีพซึ่งมีไม่มากนัก ทำให้ชาวประมงจำใจเสี่ยง ในขณะนี้แม้หลายภาคส่วนจะมีความพยายามในการแก้ปัญหาเรื่องโพงพางบริเวณร่องน้ำปากพนัง แต่ยังไม่สามารถหาจุดสมดุลระหว่างกันได้ โดยเฉพาะหากยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนอาชีพการทำโพงพางให้กับชาวประมงในพื้นที่ได้ ในอนาคตอันใกล้ความขัดแย้งก็จะทวีความตึงเครียดมากขึ้นในลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งครั้งหนึ่งได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของภาคใต้และประเทศไทย