ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เร่งจัดตั้ง "ทีมกู้ชีพท้องถิ่น" พัฒนามาตรฐาน "บริการสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน" ทั่วถึงเท่าเทียม

สังคม
25 มี.ค. 56
12:28
583
Logo Thai PBS
เร่งจัดตั้ง "ทีมกู้ชีพท้องถิ่น" พัฒนามาตรฐาน "บริการสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน" ทั่วถึงเท่าเทียม

ด้าน“นพ.วิทยา” แนะต้องบูรณาการทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด ชี้ปัญหาการเข้าถึงบริการเหตุเพราะประชาชนไม่รู้จักและการจัดตั้งทีมกู้ชีพในท้องถิ่นยังไม่ทั่วถึง

 นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)  กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกันระหว่าง สพฉ. และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหาแนวทางการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินร่วมกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน และผู้ป่วยฉุกเฉินทุกคนเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียมว่า การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินนั้นจะต้องมีการประสานการทำงานและใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โดย สพฉ.จะมีหน้าที่หลักในการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงาน และพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพ การจัดการความรู้ ข้อมูลสารสนเทศ การถอดบทเรียน ส่วนกระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) จะเป็นหลักในการจัดการปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน ที่สำคัญจะเป็นการบูรณาการทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

 
ด้าน นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบปฏิบัติการฉุกเฉิน  กล่าวว่า  การเจ็บป่วยฉุกเฉินเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่ต้องอาศัยหลายภาคส่วนร่วมกันทำงานและแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ โดยเฉพาะในส่วนของทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศ ซึ่งความจริงหากประเมินแล้วเราไม่ได้ขาดแคลนทรัพยากร เพียงแต่ขาดการจัดการในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นหลักการสำคัญที่ต้องเดินหน้าต่อไป และจะทำให้การแก้ปัญหาการเข้าถึงการบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น คือทั้งกระทรวงสาธารณสุข และ สพฉ. ควรจะนำศักยภาพที่มีอยู่ทั้งหมดมาช่วยกันแก้ปัญหาและจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้ดีมากยิ่งขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุขจะต้องมีความพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์และบุคลากร ส่วน สพฉ.เองก็ต้องมีความพร้อมในเรื่องการเพิ่มศักยภาพบุคลากร การจัดการมาตรฐาน และสำคัญที่สุดจะต้องมีการประสานความร่วมมือในหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน
 
“สำหรับปัญหาใหญ่ในเรื่องการแพทย์ฉุกเฉินขณะนี้ จากข้อมูลผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งประเทศปี 2554  มีจำนวน 24 ล้านคน แต่ยังเข้าถึงการบริการได้ไม่ดีพอ คือมีเพียงร้อยละ 10 ที่มาด้วยระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ส่วนที่เหลือขวนขวายมาด้วยตนเอง ซึ่งเหตุผลสำคัญคือไม่รู้ว่ามีระบบการแพทย์ฉุกเฉิน รวมทั้งการจัดตั้งทีมกู้ชีพในท้องถิ่นยังไม่ทั่วถึง ดังนั้นเรื่องนี้คือปัญหาที่จำเป็นและเร่งด่วนที่ทั้งกระทรวงสาธารณสุข และ สพฉ. เองจะต้องมาร่วมมือกัน ทั้งในการเผยแพร่องค์ความรู้ และเร่งทำงานให้ประชาชนเข้าถึงการบริการผ่านสายด่วน 1669  และขณะเดียวกันก็ต้องผลักดันเรื่องกฎหมายและมาตรฐานด้วย เพื่อนำไปสู่เป้าหมายคือประชาชนได้รับบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ” นพ.วิทยากล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง