กองทุนสัตว์ป่าโลก ระบุช้าง 89 ตัว ถูกฆ่าในประเทศชาด
กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ของประเทศชาติระบุว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีช้างอย่างน้อย 89 ตัว ถูกสังหารนับเป็นเหตุล่าสังหารช้างครั้งเลวร้ายที่สุดอีกครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่เหตุสังหารหมู่ช้างกว่า 300 ตัว ที่อุทยานบูบาจิดด้า ของแคเมอรูน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2555
จากรายงานของเจ้าหน้าที่รัฐบาลประเทศช้าด ช้างอย่างน้อย 89 ตัว ถูกฆ่าระหว่างคืนวันที่ 14-15 มีนาคม ใกล้ๆกับเมืองกันบา ทางตอนใต้ของประเทศ ในบรรดาช้างที่ถูกฆ่า เป็นช้างตัวเมียที่กำลังตั้งท้อง 33 ตัว และลูกช้างอีก 15 ตัว คาดว่า กลุ่มนายพรานที่ก่อเหตุมีประมาณ 50 คน ใช้วิธีขี่ม้า และพูดภาษาอาระบิค ซึ่งขณะนี้กองทัพช้าดส่งกำลังทหารเพื่อยับยั้งอาชญากรกลุ่มนี้แล้ว
"เป็นอีกครั้งที่โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นถึงภัยคุกคามต่อช้างในแถบแอฟริกากลางที่ยังคงอยู่" นาย บาส ฮุจเบรกส์ หัวหน้าส่วนการรณรงค์ต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่าในแอฟริกากลางของ WWF กล่าว และว่า มีความเป็นไปได้สูงว่านายพรานกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มเดียวกับนายพรานซูดานที่สังหารช้างมากกว่า 300 ตัวทางตอนเหนือของประเทศแคเมอรูน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 และทำให้แคเมอรูนต้องส่งกองกำลังพิเศษเข้าปกป้องช้างที่เหลืออยู่ในภูมิภาค
นายฮุจเบรกส์กล่าวเสริมว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช้าด เน้นให้เห็นถึงความจำเป็นในระดับภูมิภาคที่จะต้องหาวิธีต่อสู้กับนายพรานเหล่านี้ และเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเริ่มบังคับใช้ในพื้นที่ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อหยุดยั้งกลุ่มพรานป่า โดยรัฐบาลประเทศแคเมอรูน, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง และช้าด จะร่วมหารือกันที่กรุงยาอุนเด ในสัปดาห์นี้ เพื่อพัฒนายุทธวิธีระดับภูมิภาคในการต่อต้านพรานป่า
"ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเริ่มต้นบังคับใช้แผนการนี้อย่างเร็วที่สุดในสัปดาห์หน้า เพื่อปกป้องช้างโขลงสุดท้ายที่เหลืออยู่ในภูมิภาค และกำจัดภัยคุกคามต่อพวกมันให้หมดสิ้น"ฮุจเบรกส์กล่าว อีกทั้งขณะนี้รากเหง้าของปัญหา ก็คือประเทศผู้บริโภคงาช้าง อย่างประเทศไทยและจีน ก็จะต้องหาหนทางให้ช้างในแอฟริกากลางอยู่รอดด้วยเช่นกัน
ในการประชุมอนุสัญญาการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (CITES) ที่เสร็จสิ้นไปเมื่อสัปดาห์ก่อน เราได้เห็นการตัดสินใจจากรัฐบาลประเทศต่างๆทั่วโลก ในการเริ่มต้นบังคับใช้มาตรการต่อประเทศที่ไม่ลงมือ หรือมีความพยายามเพียงน้อยนิดที่จะหยุดยั้งการลักลอบค้างาช้างและนอแรด
โดย รัฐบาลประเทศต่างๆ กำหนดให้จีน, เคนยา, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ไทย, อูกันดา, แทนซาเนีย และเวียดนาม ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับการจับตาว่าล้มเหลวในการควบคุมการลักลอบค้างาช้างที่แพร่หลาย ให้ส่งรายงานที่ระบุกรอบเวลาในการแก้ไขปัญหา ภายในสองเดือน และจะต้องแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าก่อนที่การประชุมไซเตสครั้งต่อไปจะมีขึ้นในช่วงฤดูร้อน ปี 2557