ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไขปมราคา "ตั๋วเครื่องบิน" ถูก-แพง

เศรษฐกิจ
10 พ.ย. 67
14:29
421
Logo Thai PBS
ไขปมราคา "ตั๋วเครื่องบิน" ถูก-แพง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ปัญหาตั๋วโดยสารแพง เป็นข้อถกเถียงมาตลอด ก็เพราะมุมมองที่ต่างกัน ผู้โดยสารเองก็ต้องการตั๋วราคาที่ถูก แต่ฝั่งของสายการบิน ก็จะอ้างว่าต้องบริหารรายได้ให้คุ้มกับต้นทุน หรือทำกำไรให้ได้มากที่สุดเช่นกัน

แต่ปัญหายิ่งถูกซ้ำเติมให้รุนแรงขึ้น การระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายสายการบินมีการปรับแผนธุรกิจ ลดฝูงบิน เพื่อความอยู่รอด แต่เมื่อหลังโควิดความต้องการเดินทางของผู้โดยสารเพิ่มขึ้น เป็นกลไกการตลาดตามหลัก demand - supply เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาตั๋วเครื่องบินปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

หลายปัจจัยมีผลต่อราคาค่าโดยสาร ทั้งช่วงเวลาในการเดินทาง ยิ่งเดินทางในช่วงสุดสัปดาห์หรือช่วงเทศกาล ราคาสูงก็จะสูงกว่าวันธรรมดา

อีกปัจจัย คือ เส้นทาง หากเป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก ราคาก็จะสูงตามไปด้วย และถ้าปลายทางมีจำนวนสายการบินเพียงรายเดียว ก็อาจตั้งราคาสูงได้ เพราะไม่มีคู่แข่ง ขณะเดียวกันระยะเวลาการจองตั๋วก่อนวันเดินทาง มีผลที่ทำให้ได้ราคาตั๋วที่ต่างกัน

แต่ปัจจัยสำคัญก็คือความต้องการตั๋ว และไม่จำกัดเพียงผู้โดยสารคนไทยเท่านั้น การเปิดประเทศด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น สายการบินทำการตลาดในลักษณะโค้ดแชร์กับสายการบินต่างประเทศ ทำให้ความต้องการเดินทางจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมาต่อเครื่องในไทยเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

ฝั่งสายการบิน จะต้องบริหารรายได้ คำนวณราคาต่อที่นั่งในแต่ละเที่ยวบินให้คุ้มทุน หรือ มีกำไรมากที่สุด แต่เสี่ยงน้อยสุด ยกตัวอย่างการคิดราคาที่นั่งบนเที่ยวบิน หากสายการบินต้องการรายได้ในเที่ยวบินนั้นอยู่ที่ 1 ล้านบาท มีจำนวนที่นั่งที่ต้องขายให้กับผู้โดยสาร 100 ที่นั่ง เฉลี่ยแล้วสายการบินจะต้องขายในราคา 10,000 บาทต่อที่นั่ง อาจมีความเสี่ยงที่จะได้ลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูง แต่ขายที่นั่งได้น้อย ไม่คุ้มกับต้นทุนได้เที่ยวบินนั้น และการตัดสินซื้ออาจเกิดในช่วงท้าย ๆ ก่อนการบิน เพราะจะซื้อเวลาใดราคาก็เท่ากัน ทำให้สายการบินยากต่อการบริหารจัดการ

สายการบินจึงเลือกใช้วิธีนำ 100 ที่นั่งที่มี มาจัดระดับราคา หรือ Fare Class แทนที่จะขายตั๋วในราคาเดียวกันหมดทุกที่นั่ง ก็เฉลี่ยราคาตั้งแต่ถูกสุดไปจนถึงแพงสุด แต่ยอดรวมในการขายต้องอยู่ในจุดที่สายการบินคุ้มทุนหรือมีกำไร เป็นตัวเลขตุ๊กตาที่ตั้งไว้ที่ 1 ล้านบาท จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนที่จองซื้อตั๋วล่วงหน้า มีตัวเลือกและมีโอกาสได้ตั๋วราคาถูกกว่าคนที่ซื้อทีหลัง เมื่อตั๋วในระดับราคาถูกเต็ม คนที่มาที่หลังก็จะต้องซื้อในราคาที่สูงขึ้น ตามสัดส่วนที่นั่งที่เหลือ

แต่ก็มีคำถามต่อไปว่า ถ้าเหลือที่นั่งราคาแพงในเที่ยวบินนั้น แล้วใกล้จะถึงเวลาปิดประตูเพื่อเดินทาง สายการบินจะยอมลดราคาตั๋วที่ไหม โดยชูติวุฒิ สุวานิชย์กุล กรรมการผู้จัดการ www.eticket.co.th บริษัทตัวแทนจำหน่ายตั๋วเครื่องบิน ระบุว่า คงไม่มีโอกาสได้เห็น เพราะหากสายการบินตัดสินใจลดราคาที่นั่งที่มีราคาแพงลง หมายถึงรายได้รวมที่เคยคำนวณไว้ในเที่ยวบินนั้น ก็จะลดลงตามไปด้วย

การเก็บที่นั่งราคาแพงเอาไว้ ไม่ยอมลดราคา ถือว่าเท่าทุน และมีโอกาสทำรายเพิ่มได้ หากมีคนที่จำเป็นต้องเดินทางจริง ๆ อาจยอมจ่าย และถ้ายิ่งมีที่นั่งเหลือน้อย แต่คนต้องการเดินทางในวินาทีสุดท้าย ตั๋วที่นั่งที่เคยแพงอยู่แล้ว ก็มีโอกาสปรับราคาขึ้นได้อีก หรือถ้าขายไม่ออกจริง ๆ สายการบินก็สามารถหารายได้ชดเชยจากการขายสินค้าบนเครื่องบิน หรือขายบริการเสริมอื่น ๆ แทน

“บางครั้งคุณขายของในระดับราคาหนึ่ง วันดีคืนดีจะมาลดราคาเพื่อขายของให้เต็ม สายการบินเขาไม่ทำอย่างนั้น เขายอมให้ส่วนที่เหลือ เช่น เหลือ 10% ของอัตราบรรทุก อาจจะไม่ยอมขายถูกเลย ขายให้แพงไปเลย เพราะคุณซื้อเขากำไรเพิ่มขึ้น คุณแค่ซื้ออีก 4% เขาก็ได้กำไรเพิ่มขึ้น ดีกว่าขายถูก อย่าลืมว่าถ้าขายของถูก ยังมีค่าน้ำมัน ค่าอาหาร มีคอร์ดอย่างอื่นตามขึ้นมา”

การกำหนดราคาตั๋วเครื่องบิน มีกลไกจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ที่ประกาศบังคับใช้เมื่อปี 2562 กำหนดเพดานสูงสุดในการคิดอัตราค่าโดยสารเอาไว้ โดยเส้นทางบินที่มีระยะทางบินเกินกว่า 300 กิโลเมตร ในกลุ่มที่เป็นสายการบินเต็มรูปแบบ หรือ Full Service กำหนดเพดานค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 13 บาทต่อกิโลเมตร ขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำ หรือ low cost กำหนดไม่เกิน 9.40 บาทต่อกิโลเมตร

สุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัญหาราคาตั๋วเครื่องบิน ถูกกำหนดด้วยกลไกตลาด ซึ่งจะมีราคาแพงในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว แต่ขณะเดียวกันสายการบินเป็นธุรกิจที่มีต้นสูง แต่รายได้ไม่แน่นอน ในบางช่วงเวลาอาจต้องยอมขาดทุน ทำการบินเพื่อรักษาเส้นทางเอาไว้ และใช้ช่วงที่คนต้องการเดินทางจำนวนมาก เป็นนาทีทองในการทำกำไรกลับคืนมา

“เทศกาล demand สูง supply ไม่พอ สายการบินก็ต้องรอโอกาสนี้ในการทำรายได้ชดเชย ที่ยังขาดทุนมาตลอดทั้งปี ต้องบอกว่าสายการบินต้นทุนสูง ทุกวันที่บินก็เหมือนกับเข้าเนื้อไปเรื่อย ๆ กำไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะไม่ใช่ช่วงเทศกาล ถามว่าช่วงที่ไม่ใช่เทศกาลขายตั๋วแพงจะมีคนเดินทางไหม คนก็ไม่ไป เพราะไม่ใช่ช่วงเทศกาล ก็ต้องขายตั๋วถูกให้คนเดินทางบ้าง บางทีไม่คุ้มทุนก็ต้องบิน โหลด Factor 50% ก็ต้องบิน เพราะฉะนั้นตลอดทั้งปีส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ กำไรน้อยหรือไม่กำไรหรือขาดทุน ดังนั้นช่วงเทศกาล ซึ่งปีหนึ่งมีไม่กี่วัน เหมือนกับช่วงที่เป็นตลาดของสายการบินที่จะชดเชยในส่วนตรงนั้น”

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ยังมีการเก็บข้อมูล ค่าตั๋วโดยสารของสายการบินในประเทศ ช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ที่ผ่านมา ไม่พบการเรียกเก็บค่าโดยสารเกินเพดาน โดยสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ หรือ full Service เส้นทางที่มีค่าโดยสารสูงสุด คือ เส้นทางหาดใหญ่-สุวรรณภูมิ และ สุวรรณภูมิ-หาดใหญ่ ราคา 7,100 บาทต่อเที่ยวบิน ขณะที่เส้นทางที่ถูกที่สุด มีราคา 1,400 บาทต่อเที่ยวบิน ในเส้นทาง สุวรรณภูมิ-ขอนแก่น

ขณะที่ค่าโดยสารของสายการบินต้นทุนต่ำ หรือ low cost ราคาโดยสารแพงที่สุด อยู่ที่เส้นทางหาดใหญ่-ดอนเมือง ที่ราคา 7,065 บาท และค่าโดยสารต่ำสุดในเส้นทางดอนเมือง-ขอนแก่น กระบี่ ภูเก็ต ที่ราคา 445 บาท

ในภาพรวมก็เป็นเรื่องดีที่ไม่พบสายการบินคิดค่าโดยสารเกินเพดานที่กำหนด แต่อีกมุมหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า สายการบินสามารถกำหนดราคาค่าตั๋วโดยสารที่ต่ำกว่าเพดานได้ โดยที่สายการบินก็ยังอยู่ได้หากหน่วยงานที่กำกับดูแลสามารถปรับลดเพดานค่าโดยสารสูงสุดลงมาได้ ก็อาจเป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้ราคาค่าโดยสารถูกลงได้หรือไม่

รวมไปถึงการเพิ่มสัดส่วนของผู้เล่นเข้าไปยังสนามบินที่มีเจ้าตลาดเพียงไม่กี่ราย อาจทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา และทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์มากขึ้น

ขณะที่ฝั่งคนที่อยู่ในธุรกิจการบิน มองว่า การที่รัฐเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดมากเกินไป หรือแม้แต่สายการบินแข่งขันสงครามราคาจัดโปรโมชันลดแลกแจกแถมมากเกินไป เช่น โปร 0 บาท อาจทำให้กลไกราคาที่ผิดเพี้ยน


ที่ถูกต้องแล้วธุรกิจสายการบินควรกลับมาแข่งขันอย่างเป็นธรรม บนฐานของต้นทุนที่แท้จริง และทำให้ผู้บริโภคได้เห็นถึงกลไกในการตั้งราคาที่สมเหตุสมผล ก็จะจบปัญหา "ตั๋วถูก-ตั๋วแพง" ที่มักจะวนกลับมาทุกครั้งในช่วงไฮซีซัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง