ผ้าผะเหวดผืนเก่ากว่า 100 ปี สื่อเรื่องราวพระชาติสุดท้ายการบำเพ็ญทานบารมีของพระเวสสันดร ถูกแห่ไปรอบศาลาธรรมวัดหอไตร ด้วยศรัทธาของชาวผู้ไทบ้านเหล่าใหญ่ เป็นสัญลักษณ์ในงานบุญผะเหวด ที่ปฏิบัติสืบต่อกันไม่เคยขาด ขบวนศรัทธา ยังมาจากการบอกบุญพี่น้องในหมู่บ้านและต่างถิ่น ช่วยกันจัดหาปัจจัย เครื่องใช้จำเป็น เช่น หมอนลายขิด ผ้าห่ม เสื้อผ้า รวมเป็นกองบุญใหญ่ของเครือญาติ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับ แทนความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ
"ทำมาทุกปีเพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษ ลูกหลานอยู่ที่ไหนก็ต้องมา" พระครูนิทานสุตกิจ เจ้าภาพขบวนกองบุญใหญ่
"บอกบุญไปยังญาติพี่น้องให้มาร่วม ทุกคนจะมาทำบุญร่วมกันจนเป็นกองบุญ" สมจิตร แสงกล้า เจ้าภาพขบวนกองบุญใหญ่
งานบุญเดือน 4 ของชาวบ้านผู้ไท ที่บ้านเหล่าใหญ่ปีนี้ ถือเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้าน คนอีสานเรียกว่า โฮมบุญค่ะ อย่างการตกแต่งด้วยธงทิวบอกที่มาของผ้าลายขิดเอกลักษณ์ผู้ไท ทำอุทิศให้กับผู้ล่วงลับ รวมถึงการทำเครื่องร้อยเครื่องพัน เป็นใยแมงมุมหรือบันไดสวรรค์ เพื่อระลึกถึงพระเวสสันดรในงานบุญผะเหวด
เชื่อกันว่า หากฟังเทศน์มหาชาติจบ ครบ 13 กัณฑ์ในวันเดียว จะได้รับอานิสงค์มาก ท่ามกลางบรรยากาศป่าวงกตจำลองสถานปฏิบัติธรรมของพระเวสสันดรบนศาลาวัด ตกแต่งธรรมมาสน์ด้วยเครื่องบูชาในงานบุญผะเหวด เช่น ธงช่อ ธงชัย กระยองใส่ดอกไม้ พวงระย้าดอกไม้ป่า ตลอดจนใยแมงมุมและบันไดสวรรค์ สื่อถึงธรรมขั้นสูงและบารมีของพระเวสสันดร ล้วนเกิดจากความร่วมมือของชาวบ้านที่ตั้งใจสืบทอดงานบุญ
"พ่อแม่ปู่ย่าพาทำก็ต้องทำ เป็นเครื่องร้อยเครื่องพัน ถ้าไม่ทำจะเกิดเพศภัย" แต้ม สาระพล ชาวผู้ไท บ้านเหล่าใหญ่ จ.กาฬสินธุ์
"เป็นงานบุญที่เกิดจากความเชื่อของชาวผู้ไท ที่นับถือผีและพุทธ" ณรงค์ชัย ไชยขันธุ์ กรรมการสภาวัฒนธรรมตำบลเหล่าใหญ่ จ.กาฬสินธุ์
กว่า 200 ปีที่ชาวผู้ไท มาอาศัยภาคอีสาน สันนิษฐานถิ่นเดิมอาศัยอยู่ทางจีนตอนใต้ จนถึงวันนี้ยังสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับศาสนาได้อย่างเข้มแข็ง และจัดกิจกรรมสานเครือข่ายชาติพันธุ์ผู้ไททั้งในลาว เวียตนาม รวมถึงอีกหลายแห่ง และมีการแต่งกายเป็นเอกลักษณ์ เช่นเดียวกับชาวบ้านเหล่าใหญ่ที่ยังวิถีผู้ไท และอาศัยงานบุญผะเหวดร้อยใจคนในชุมชน