สมาพันธ์แรงงาน รสก.ฯ กังวลแผนปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เรียกร้องรัฐบาลเปิดเผยแผนปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่ชัดเจนที่ตอบโจทย์ความเป็นธรรม และโปร่งใส หลังจากคณะอนุกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจเตรียมเสนอร่างกฎหมายจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในเดือนมิถุนายน 2558 โดยยังไม่มีการชี้แจงรายละเอียดใดๆ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
ในงานเสวนาหัวข้อ "ผ่าแผนปฏิรูป วิกฤตหรือโอกาสประเทศไทย " นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เปิดเผยถึงความกังวลต่อแผนปฏิรูปรัฐวิสาหกิจว่า จะเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมากกว่าหรือไม่ เพราะมีคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) บางส่วนออกมาให้ความเห็นว่าการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ต้องให้รัฐวิสาหกิจทำหน้าที่เท่าที่จำเป็น ที่เหลือให้เอกชนเข้ามาทำหน้าที่แทน นอกจากนี้ มติที่ประชุมคนร.ที่ให้จัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ (โฮลดิ้ง) เข้ามาบริหารรัฐวิสาหกิจทั้งในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทจำกัด (มหาชน) และบริษัทจำกัด รวม 14 แห่ง ยิ่งทำให้เข้าใจว่าคือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น เพื่อให้การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจตอบโจทย์การบริการที่โปร่งใส เป็นธรรมต่อผู้บริโภค รัฐบาลควรเปิดเผยแผนการปฏิรูปที่ชัดเจน พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ก่อนที่อนุกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจจะสรุป และเสนอร่างกฎหมายจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติให้ สนช.พิจารณา นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยการพัฒนารัฐวิสาหกิจเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูป
รศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ นักวิชาด้านเศรษฐศาสร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การที่รัฐบาลจะปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ โดยจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติขึ้นมาบริหารรัฐวิสาหกิจ ยังไม่มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าทำเพื่ออะไร แต่ไม่ว่าจะแปรรูป หรือปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ จะต้องดูถึงวัตถุประสงค์การก่อตั้งรัฐวิสาหกิจ ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อการให้บริการสาธารณะ โดยให้ประชาชนทุกชนชั้นเข้าถึงบริการได้ในราคาถูก รวมทั้งเพื่อความมั่นคงของชาติ ขณะที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าภาคเอกชนสามารถบริหารรัฐวิสาหกิจแล้ว ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณะได้ในราคาถูก เช่นเดียวกับที่รัฐบาลดูแลเอง เพราะเอกชนมองเรื่องผลกำไรเป็นหลัก
นายกุลิส สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า แนวทางปฏิรูปรัฐวิสาหกิจแบ่งเป็น 2 ส่วน คือบริษัทจำกัดที่ไม่มีกฎหมายจัดตั้ง 12-13 แห่ง จะอยู่ในความดูแลของบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ส่วนรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายจัดตั้งจะอยู่ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ส่วนที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติเข้ามาดูแลรัฐวิสาหกิจ จะมีการแปรรูปเพื่อขายให้กับเอกชนหรือไม่ ขอยืนยันว่าไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแน่นอน โดยจะเป็นการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติเพื่อให้มีคณะกรรมการขึ้นมาดูแลรัฐวิสาหกิจให้ชัดเจน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร หากฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายการเมืองกำหนดนโยบายที่เสี่ยงต่อการขาดทุน สามารถต่อรองกับรัฐบาลให้จ่ายเงินชดเชยเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น ซึ่งมีเป้าหมายการพัฒนารัฐวิสาหกิจ เพื่อเพิ่มคุณภาพการบริการสาธารณะ ทำให้เกิดรายได้ที่ดีขึ้น ซึ่งจะมีการบริหารในรูปแบบคณะกรรมการภายใต้การกำกับของรัฐบาล