เปิดข้อกังวล
แม้จะไม่ใช่วันหยุดสุดสัปดาห์ แต่ตลอดทั้งวัน มีรถบัสนำเที่ยวจำนวนมาก เข้ามายังพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวคึกคัก ไม่แพ้แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ
การหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยว เป็นผลจากการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมให้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายทางหลวงแผ่นดิน สายควนขนุน - ทะเลน้อย ให้เป็น 4 ช่องจราจร, การสร้างถนนยกระดับสายบ้านใสกลิ้ง–หัวป่า ผ่านพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ระยะทางกว่า 17 กิโลเมตร ช่วยร่นระยะเวลาเดินทาง ระหว่างอ.ระโนด จ.สงขลา กับอ.ควนขนุน จ.พัทลุง ส่งผลให้ปี 2553 จ.พัทลุง มีนักท่องเที่ยว เพิ่มจาก ปีละ 200,000 คน เป็นเกือบ 500,000 คน และมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มเป็นเกือบ 750 ล้านบาท
สำหรับชื่อเสียงของทะเลน้อย เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง หลังประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาแรมซาร์ และเสนอพรุควนขี้เสียน ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เป็นแรมซาร์ไซต์ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ ถือว่าเป็นแห่งแรกของไทย และพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับนานาชาติ โดยให้เป็นศูนย์ศึกษาธรรมชาติ และระบบนิเวศน์
ทั้งนี้ ช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา พื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ทะเลสาบสงขลา จากเดิมที่เคยเป็นป่าเสม็ดผืนใหญ่แหล่งรวมความหลากหลายทั้งพันธุ์พืชและสัตว์หลายร้อยสายพันธุ์ ต่อมาถูกยกระดับสู่พื้นที่ชุ่มน้ำ ควบคู่กับแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของโลก
จนถึงวันนี้การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่ในระดับเริ่มมีความพร้อมรองรับการมาเยือนของผู้คนจำนวนมาก ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสให้ผู้มาเยือนได้ร่วมกันพิสูจน์ว่า ทรัพยากรในพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ ได้ถูกใช้ไปอย่างชาญฉลาด ตามสัตยาบันสารที่ประเทศไทย ได้ประกาศต่อนานาชาติไว้หรือไม่