นักวิจัยพบหลักฐาน
ฉากการประท้วงเพื่อเรียกร้องอาหารใน Coriolanus 1 ในบทละครชื่อก้องของ วิลเลียม เชคสเปียร์ เล่าถึงการล่มสลายของกรุงโรมจากภาวะข้าวยากหมากแพง ซึ่งประพันธ์ขึ้นในช่วงที่ชาวนาอังกฤษก่อเหตุประท้วงใหญ่ในปี 1607 นอกจากเป็นละครที่โด่งดังจากสำนวนโวหารของกวีใหญ่แล้ว ยังมาจากความรู้ด้านธุรกิจในฐานะพ่อค้า ผู้ขึ้นชื่อเรื่องการหากำไรจากการกักตุนอาหารในช่วงแร้นแค้น ซึ่งถูกปกปิดในประวัติศาสตร์มานาน
ข้อเท็จจริงนี้ถูกเปิดเผยโดยทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยแอบเบอรีสวิธในเวลส์ ซึ่งกล่าวว่าภาพนักธุรกิจของเชคสเปียร์ถูกลบทิ้งไปจากประวัติศาสตร์ โดยนักวิชาการรุ่นหลังที่รับไม่ได้กับภาพลักษณ์พ่อค้าหัวหมอของกวีผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งทีมวิจัยได้ค้นพบหลักฐานที่ยืนยันว่าเขามีอาชีพสำรองเป็นเจ้าของที่ดิน และพ่อค้าข้าวเป็นเวลาถึง 15 ปี ซึ่งเชคสเปียร์ได้นำข้าวที่กักตุนไว้มาขายต่อในราคาแพง และนำกำไรไปต่อยอดธุรกิจปล่อยเงินกู้อีกทอดหนึ่ง ซึ่งมีหลักฐานเป็นคำฟ้องต่อเขาในคดีอาญาปี 1598 เรื่องการกักตุนข้าวในภาวะขาดแคลน รวมถึงหลักฐานในคดีเลี่ยงภาษีอีกด้วย
ศาสตราจารย์โจนาธาน เบต ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีอังกฤษของออกซ์ฟอร์ด กล่าวว่างานวิจัยชิ้นนี้ช่วยไขปริศนาเบื้องหลังความแร้นแค้นที่ปรากฏในงานของเชคสเปียร์หลายชิ้น ทั้งCoriolanus จนถึง King Lear บทละครชื่อดัง เล่าถึงชะตากรรมของกษัตริย์ชรา ที่ต้องเผชิญกับความยากไร้ช่วงบั้นปลายชีวิต ซึ่งบทละครที่ประพันธ์ขึ้นระหว่างปี 1603 ถึง 1606 นี้ เกิดขึ้นช่วง Little Ice Age หรือช่วงที่อังกฤษตกอยู่ในภาวะแร้นแค้นจากภัยหนาว จนไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ระหว่างปลายศตวรรษที่ 16 และ 17
เจน อาเชอร์ อาจารย์ด้านวรรณกรรมยุคกลาง และยุคเรอเนซองส์ของแอบเบอรีสวิธ ผู้นำทีมวิจัยครั้งนี้ ยอมรับว่าการเป็นพ่อค้าหัวหมออาจจะแย้งกับภาพกวีนักรักของเชคสเปียร์ แต่เธอเชื่อว่านักอ่านรุ่นใหม่จะยอมรับตัวตนที่แท้จริงของศิลปินได้มากกว่าในอดีต เพราะนอกจากแรงผลักดันทางศิลปะแล้ว ยังมีปัจจัยอีกมากมายที่ทำให้นักเขียนสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งความมั่นคงทางรายได้ก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น ซึ่งการหันมาทำธุรกิจก็เป็นความจำเป็นของกวีใหญ่ ที่ต้องดูแลครอบครัวและผู้คนในเมืองสแตรตฟอร์ดบ้านเกิด ในช่วงที่บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะอดอยาก