จำนวนของดอกบัวแดงสัญลักษณ์สำคัญของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จ.พัทลุง มีเหลือให้นักท่องเที่ยวชื่นชมไม่มากนัก ทั้งที่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นฤดูที่บัวแดงจะบานสพรั่งเต็มที่ หลายปีที่ผ่านมาช่วงเวลานี้จึงถูกกำหนดเป็นฤดูแห่งการท่องเที่ยวทะเลน้อย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศ
ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาแรมซาร์ เมื่อปี 2541 พร้อมเสนอพรุควนขี้เสียน ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลกแห่งแรกของประเทศ พร้อมให้สัตยาบันต่อนานาชาติว่าจะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในทะเลน้อยอย่างชาญฉลาด เวลาผ่านไปเพียง 2 ทศวรรษ ผลที่ได้กลับตรงกันข้าม
ผลการวิจัยของนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมหลายชิ้นระบุตรงกันว่าปัจจุบันระบบนิเวศน์ของทะเลน้อยเสื่อมโทรมลงหลายด้าน เช่น ปัญหาน้ำเน่าเสียและปนเปื้อนสารโลหะหนัก การสูญเสียที่ดินจากการบุกรุกเพื่อทำการเกษตร การแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของวัชพืชทำให้พืชบางชนิด เช่น บัว ไม่สามารถเติบโตได้ การลดจำนวนของสัตว์น้ำและนกน้ำ เช่น นกเป็ดแดง รวมทั้งปัญหาการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวไม่ให้กระทบกับระบบนิเวศน์ ที่ยังขาดการบูรณาการอย่างจริงจัง
แม้การใช้ทรัพยากรทะเลน้อยอย่างชาญฉลาด ตามสัตยาบันที่ไทยให้ไว้กับนานาชาติอาจจะยังไม่เกิดขึ้นในขณะนี้ แต่หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเห็นตรงกันว่ายังมีความเป็นไปได้ที่จะฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของทะเลน้อยให้ดีขึ้น เพราะหากปล่อยให้ทะเลน้อยล่มสลาย นั่นหมายถึงระบบนิเวศน์โดยรวมของทะเลสาบสงขลาซึ่งมีความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับทะเลน้อยก็จะเสื่อมโทรมต่อเนื่องกัน และผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นอันดับแรก คือผู้คนนับล้านคนที่ใช้ทรัพยากรรอบลุ่มน้ำแห่งนี้ในการดำรงชีวิต