แกะรอยสายสัมพันธ์ธุรกิจกลุ่มค้ามนุษย์
ชาวโรฮิงญาและบังคลาเทศเกือบ 100 คน ถูกทางการมาเลเซียจับกุมได้ ขณะพยายามหลบหนีมายังเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ก่อนจะถูกควบคุมตัวนำไปนำส่งที่ฐานทหารบูกิต มูล๊อง บนเกาะลังกาวี ซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่ควบคุมตัวชาวโรฮิงญาที่หลบหนีเข้าเมืองก่อนหน้านี้เกือบ 1,000 คน โดยทั้งหมดเดินทางโดยเรือผ่าน จ.อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซียก่อนจะถูกจับกุมได้ แต่เจ้าหน้าที่ของมาเลเซียไม่อนุญาติให้บันทึกภาพในค่ายทหาร
ทีมข่าวไทยพีบีเอส พยายามแกะรอยเส้นทางของกลุ่มค้ามนุษย์ที่นำตัวแรงงานข้ามชาติจากแหล่งที่พักพิงในประเทศไทยมายังเกาะลังกาวี โดยได้สอบถามจากสถานีตำรวจที่เกาะลังกาวี แต่ก็ได้รับการปฎิเสธ โดยให้เหตุผลเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง และกล่าวเพียงสั้นๆ ว่าทางการมาเลเซียจะดูแลปัญหานี้อย่างดีที่สุด โดยประสานกับองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาดูแลคนกลุ่มนี้
รอยต่อระหว่างเกาะตะรุเตา เกาะหลีแป๊ะ จ.สตูล และเกาะลังกาวีของประเทศมาเลเซียที่นั่งเรือโดยสารแค่ประมาณ 40 นาทีเศษ ทำให้เกิดขบวนการค้ามนุษย์และสินค้าหนีภาษีอย่างเปิดเผย ชาวเกาะลังกาวีคนหนึ่งในให้ข้อมูลกับทีมข่าวไทยพีบีเอสแต่ไม่อาจเปิดเผยตัวได้ ระบุว่าแกนนำขบวนการค้ามนุษย์ใน จ.สตูล กับกลุ่มผู้ค้าของมาเลเซีย มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่น โดยเฉพาะนายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง ผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับในคดีค้ามนุษย์ในประเทศไทยที่เจ้าหน้าที่คาดว่าจะหลบหนีเข้ามายังเกาะลังกาวี
ทีมข่าวไทยพีบีเอสพยายามตรวจสอบสถานที่ที่โกโต้งเคยแวะเข้าพักบนเกาะลังกาวีหลายแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบ้านของเพื่อนสนิทและผู้ทรงอิทธิพลบนเกาะ แต่จากตรวจสอบสภาพพบว่า บ้านหลายหลังปิดสนิทและเพื่อนบ้านก็ปฎิเสธที่จะให้ข้อมูล โดยเฉพาะเมื่อข่าวสารการออกหมายจับโกโต้งของทางการไทยถูกเผยแพร่ผ่านสื่อของมาเลเซียมากขึ้น เช่นเดียวกับข่าวการมอบตัวของผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับอีกหลายคนใน จ.สตูล ที่มีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับนักธุรกิจ และเจ้าหน้าที่รัฐของมาเลเซียก็ทำให้หลายคนปฎิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตามจากการพูดคุยกับชาวบ้านหลายคนบนเกาะลังกาวีเชื่อว่าปัญหาการขนแรงงานผิดกฎหมายขึ้นเกาะลังกาวีทำได้ยากเพราะการเติบโตของเกาะ ทำให้ที่นี่ต้องการแรงงานจำนวนมาก อีกทั้งค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับแรงงานบนเกาะลังกาวีประเทศมาเลเซียที่มีประมาณ 800-1,000 บาทต่อวัน ก็กลายเป็นแรงดึงดูดให้แรงงานข้ามชาติ ทั้งชาวโรฮิงญา บังคลาเทศ รวมถึงชาวเมียนมาเดินทางมาหางานทำ ทั้งการเข้ามาโดยถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการทำงานในภาคการก่อสร้าง การเกษตร และบริการ