อาคารเขียว – หนึ่งในคำตอบสำหรับวิกฤตการณ์ทางพลังงานในอนาคต
อาคารเขียวเป็นอาคารที่ได้รับการออกแบบ ก่อสร้าง ใช้งาน และบริหารจัดการให้สร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คุณลักษณะสำคัญประการหนึ่งของอาคารเขียวคือ การเป็นอาคารที่ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองต่ำ โดยเฉพาะพลังงาน ดังนั้น จึงเป็นอาคารที่สามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีสำหรับวิกฤตการณ์พลังงานที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในอนาคต
นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ โจนส์ แลง ลาซาลล์ กล่าว57'แนวโน้มการพัฒนาอาคารเขียวในประเทศไทย ว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ จะมีการพูดถึงอาคารเขียวกันมาก แต่พบว่า มีอาคารเพียงไม่กี่อาคารในประเทศไทยเท่านั้นที่ได้รับการออกแบบและก่อสร้างให้เป็นอาคารเขียวอย่างแท้จริง แต่ขณะนี้การพัฒนาอาคารเขียวในประเทศไทยเริ่มมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ดังที่สามารถเห็นได้จากอาคารใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ หลายๆ อาคาร มีการพัฒนาตามมาตรฐานอาคารเขียว
“แรงผลักดันสำคัญที่ทำให้แนวโน้มการพัฒนาอาคารเขียวในประเทศไทย ในเบื้องต้น คือกระแสเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการลดปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนของผู้พัฒนาโครงการ อย่างไรก็ดี การเป็นอาคารเขียวไม่ได้ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับเจ้าของอาคารเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในเชิงธุรกิจด้วย” นางสุพินท์กล่าว
ประโยชน์ในเชิงธุรกิจที่อาคารเขียวจะได้รับที่สามารถมองเห็นได้ง่ายๆ ได้แก่
ลดต้นทุนด้านสาธารณูปโภค อาคารเขียวเป็นอาคารที่ได้รับการออกแบบมาให้มีการใช้น้ำและไฟได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งหมายถึงการลดการสิ้นเปลืองน้ำและไฟ และต้นทุนด้านสาธารณูปโภคที่ลดลง
เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน อาคารเขียวสามารถใช้เป็นจุดขายในการดึงดูดบริษัทผู้เช่า โดยเฉพาะบริษัทระหว่างประเทศขนาดใหญ่ มีการดำเนินการดำเนินนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน หรือ CSR อย่างจริงจังมากขึ้น หากเป็นไปได้ จะเลือกมีออฟฟิศหรือสถานประกอบการในอาคารสำนักงานที่เป็นอาคารเขียว ในประเทศที่เจริญแล้วหลายๆ ประเทศ อาคารเขียวจะสามารถเรียกค่าเช่าได้สูงกว่าอาคารธรรมดาทั่วไป ส่วนในประเทศไทย แม้ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า ผู้เช่ายินดีที่จะจ่ายค่าเช่าแพงขึ้นเพื่อให้ได้มีออฟฟิศตั้งอยู่ในอาคารเขียว แต่หากมีอาคารสองอาคารตั้งอยู่ติดกัน เป็นอาคารเกรดเดียวกัน ค่าเช่าไม่ต่างกันมาก แต่อาคารหนึ่งเป็นอาคารเขียว ผู้เช่าก็มีแนวโน้มที่จะเลือกอาคารเขียว เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร
สร้างมูลค่าเพิ่ม อาคารที่มีคุณสมบัติของการเป็นอาคารเขียว แน่นอนว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่าเมื่อเทียบกับอาคารเกรดเดียวกันในทำเลเดียวกัน นั่นหมายถึงการมีมูลค่าที่สูงกว่าด้วย
นอกจากนี้ ประเทศไทยเอง ขณะนี้ได้มีการจัดตั้งสถานบันอาคารเขียวไทยขึ้นมาแล้ว โดยความร่วมมือระหว่างสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการรับรองอาคารที่มีคุณสมบัติของการเป็นอาคารเขียวในประเทศไทย
นางสุพินท์กล่าวว่า “การที่ประเทศไทยมีสถาบันที่กำหนดและตรวจสอบหลักเกณฑ์มาตรฐานอาคารเขียวเป็นของตนเอง เชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมแนวโน้มการพัฒนาอาคารเขียว เนื่องจากจะทำให้ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในไทยสามารถเข้าถึงการตรวจสอบคุณสมบัติอาคารได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่ต้องอาศัยหลักเกณฑ์มาตรฐานอาคารเขียวของต่างประเทศเท่านั้น”
ความท้าทาย
กระแสการเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกมีความชัดเจนมากขึ้น ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่ประเทศต่างๆ จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาคารเขียวมากขึ้น ประเทศไทยเอง หากจะให้มีความทัดเทียมหรือสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ ก็ไม่อาจสามารถหลีกเลี่ยงที่จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาคารเขียวด้วยเช่นกัน
นางสุพินท์กล่าวว่า “แม้ผู้พัฒนาอาคารส่วนใหญ่จะตระหนักถึงประโยชน์ของแนวคิดเกี่ยวกับอาคารเขียว แต่ปัญหาสำคัญคือ การสร้างอาคารเขียวตามมาตรฐานสากล โดยปกติมีจะต้นทุนเบื้องต้นที่ค่อนข้างสูงกว่าการสร้างอาคารธรรมดาทั่วไป ราวๆ 5-10% ขึ้นอยู่กับว่า จะให้อาคารมีมาตรฐานตามหลักเกณฑ์ของการเป็นอาคารเขียวมากน้อยเพียงใด อาคารเก่าที่ไม่ได้สร้างให้เป็นอาคารเขียวมาตั้งแต่ต้น ก็เช่นกัน หากจะมีการปรับปรุงให้มีคุณสมบัติของอาคารเขียว ก็อาจต้องอาศัยการลงทุนมาก”
อาคารเขียวโดยมาตรฐานจะใช้พลังงานน้อยกว่าอาคารธรรมดาทั่วไปถึง 20-40% แม้การประหยัดพลังงานในอัตราดังกล่าว จะเป็นผลตอบแทนที่เจ้าของอาคารจะสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน แต่ต้องอาศัยเวลาหลายปีก่อนจะถึงจุดคุ้มทุน ซึ่งอาจทำให้ผู้พัฒนาโครงการหรือเจ้าของหลายรายลังเลที่จะลงทุนสร้างอาคารเขียว หรือลงทุนปรับปรุงอาคารให้กลายเป็นอาคารเขียว
“ภาครัฐฯ จำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้น อาทิ ในผังเมืองฉบับร่างของ กทม มีเจตนาที่จะให้สิทธิพิเศษแก่อาคารที่จะสร้างให้เป็นอาคารเขียวตามมาตรฐานในระดับแพลทตินัมของสถาบันอาคารเขียวไทย โดยจะได้รับอนุญาตให้มีสัดส่วนการก่อสร้างอาคารต่อพื้นที่ดิน (Floor Area Ratio หรือ FAR) เพิ่มขึ้นอีก 20% นอกจากนี้ รัฐฯ อาจพิจารณาให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยอ้อม อาทิ การให้เงินกู้บางส่วนด้วยดอกเบี้ยอัตราพิเศษสำหรับการพัฒนาอาคารเขียว หรือการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับอาคารเขียว ตลอดรวมจนถึงการแสดงการชื่นชม (recognition) กับอาคารเขียวในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น”