ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สพฉ. แนะวิธีเดินทางปลอดภัยช่วงสงกรานต์ พกเบอร์ฉุกเฉิน-อุปกรณ์ปฐมพยาบาลติดรถ

สังคม
11 เม.ย. 56
07:00
102
Logo Thai PBS
สพฉ. แนะวิธีเดินทางปลอดภัยช่วงสงกรานต์ พกเบอร์ฉุกเฉิน-อุปกรณ์ปฐมพยาบาลติดรถ

เสริมวิธีปฐมพยาบาลลดอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินเบื้องต้น เผยประสานศูนย์สั่งการ 1669 – ทีมกู้ชีพ เช็คความ เตรียมพร้อมรับมือ 24 ชั่วโมง ตั้งเป้าช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินภายใน 8 นาที วอนหากพบเห็นรถพยาบาลโปรดให้ทาง

 นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมรับมืออุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า ในปีนี้เทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงวันหยุดยาว ซึ่งประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนามาก ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินมากขึ้น 3-4 เท่า ซึ่งในปีที่ผ่านมาสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือระดับของความรุนแรงในการเกิดอุบัติเหตุ เพราะมีสถิติผู้เสียชีวิต ณ จุดเหตุเพิ่มมากขึ้น โดย สพฉ. ได้มีการเตรียมให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยได้ประสานกับศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669  และมีการตรวจเช็คคู่สายกว่า 500 สายทั่วประเทศให้พร้อมใช้งาน และกระจายทีมกู้ชีพทั้งในส่วนภาครัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครอบคลุมในทุกพื้นที่ 

 
ในส่วนของประชาชนเองก็ต้องมีความพร้อมด้วยเช่นกัน คือหากต้องเดินทางไกลจะต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาดในระหว่างการเดินทาง ขับรถด้วยความเร็วที่กฎหมายกำหนด ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด คาดเข็มขัดนิรภัยและสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่เดินทาง และหากต้องขับรถในระยะทางไกลเกินกว่า 200 กิโลเมตร ควรหยุดพักเป็นระยะ นอกจากนี้ควรตรวจสภาพเครื่องยนต์และอุปกรณ์ต่างๆ ในรถให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานด้วยเพื่อความปลอดภัย
 
“สิ่งสำคัญหากเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินที่สำคัญจะต้องมีสติตลอดเวลา ต้องเตรียมพร้อมเรื่องการสื่อสาร การขอความช่วยเหลือ ซึ่งในรถแต่ละคันควรติดเบอร์โทรฉุกเฉินของหน่วยงานต่างๆ ไว้ เพราะบางช่วงเวลาหากตกใจเราอาจลืมการขอความช่วยเหลือได้ง่ายๆ นอกจากนี้ควรมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลและยาที่จำเป็นไว้บ้าง อาทิ สำลี น้ำยาฆ่าเชื้อที่แผล ผ้าก๊อซปิดแผล ผ้าพันแผล พลาสเตอร์ปิดแผล  ผ้ายืดพันแก้เคล็ดขัดยอก ถุงมือใช้แล้วทิ้ง  ปากคีบหยิบสำลี  กรรไกรตัด ยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้เมารถ เป็นต้น นอกจากนี้ควรเตรียมอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นอาทิ ไฟฉาย ไฟฉุกเฉิน เชือก เพราะอุปกรณ์เหล่านี้อาจกลายเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยชีวิตคุณและคนที่คุณรักได้” นพ.อนุชากล่าว
 
เลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ที่พบอุบัติเหตุหรือเป็นผู้ประสบเหตุเองและยังช่วยเหลือตนเองได้ควรตั้งสติ สงบสติอารมณ์และประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของอุบัติเหตุและพิจารณาว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บกี่คน มีรถยนต์ที่ประสบเหตุกี่คัน รวมถึงระบุสถานที่เกิดเหตุให้ชัดเจน และควรรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669  โดยอย่าพยายามเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่บาดเจ็บด้วยตนเอง เพราะอาจจะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินบาดเจ็บมากยิ่งขึ้นได้ และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน  

หากมีความจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุให้จอดรถในที่ปลอดภัย เปิดไฟฉุกเฉิน  ซึ่งหากผู้ป่วยฉุกเฉินมีเลือดออกมากให้ทำการปฐมพยาบาลโดยการห้ามเลือด โดยใช้ผ้าปิดปากแผล แล้วใช้ส้นมือหรือฝ่ามือกดให้แน่นประมาณ 10-15 นาที จนเลือดหยุด แต่อย่ากดจนซีดเขียว สำหรับภาวะเลือดออกภายในการห้ามเลือดอาจทำได้ยากหรืออาจทำไม่ได้เลย แต่สามารถช่วยปฐมพยาบาลเพื่อลดความรุนแรงได้คือให้ผู้ป่วยพักในท่าที่สบายที่สุด ปลอบใจให้ผู้ป่วยไม่ตื่นเต้นตกใจและสงบจะทำให้เลือดออกน้อยลง ห้ามให้อาหารและน้ำทางปาก จนกว่าแพทย์จะอนุญาต และหากไอเป็นเลือด ให้ผู้ป่วยพยายามไอเบาๆ จะทำให้เลือดออกน้อยลง

นอกจากนี้หากกระดูกหักและจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายจริงๆ ให้ดามกระดูกก่อน โดยอาจใช้อุปกรณ์ใกล้ตัวเช่นกระดาษแข็งหนาๆ หรือไม้นำมามัดดามไว้ด้วยเชือกหรือผ้าพันแผลบริเวณที่กระดูกหักเพื่อลดการขยับ

 
“ช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ทีมกู้ชีพเราพร้อมทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง โดยเราตั้งเป้าการไปช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้ภายใน 8 นาที เพราะจะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมีโอกาสรอดและปลอดภัยมากที่สุด ดังนั้นหากผู้ขับขี่พบเห็นรถพยาบาลโปรดหลีกทางให้ด้วย เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันกาล โดยอยากให้คิดเสมอว่าคนในรถฉุกเฉินอาจเป็นญาติหรือคนที่คุณรักก็ได้” นพ.อนุชากล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง