นับแฟ้ม
บรรยากาศในสัปดาห์หน้า 15-19 เมษายนนี้ ทำให้คนไทยลุ้นระทึกกัน เมื่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก จะพิจารณาคดีที่ประเทศกัมพูชายื่นเรื่องให้ศาลโลกตีความเขตพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งใช้เวลาพิจารณากันในช่วงวันดังกล่าว
โดย กระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้จัดช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลสำหรับประชาชนที่สนใจ สามารถเลือกรับฟังเสียงการให้ถ้อยแถลงทั้งเสียงจริงที่เป็นภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษ เสียงที่แปลแล้วเป็นภาษาอังกฤษ และเสียงที่แปลแล้วเป็นภาษาไทย ได้ที่ http://www.phravi harn.org และยังจะมีการถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย FM 92.5 และ AM 891 นอกจากนี้ ยังมีสถานีวิทยุสราญรมย์ที่ AM1575
โดยขบวนการตามกำหนด ที่กระทรวงต่างประเทศไทยระบุว่า วันที่ 15 เม.ย. เป็นคิวชี้แจงของกัมพูชา วันที่ 16 เม.ย. ศาลจะหยุดรับฟังคำชี้แจงเพื่อให้ฝ่ายไทยเตรียมพร้อมก่อนชี้แจงในวันที่ 17 เม.ย. จากนั้นวันที่ 18 เม.ย. กัมพูชาชี้แจงสรุป และวันที่ 19 เม.ย. ไทยชี้แจงสรุปรอบสุดท้าย
ทั้งหมดนี้ สถานีโทรทัศนืไทยพีบีเอส ก็จะเริ่มต้นรายงานข่าว และสรุปประเด็นให้ผู้ชม และผู้ฟังได้รับทราบตั้งแต่วันแรกคือวันนี้ ซึ่งทางกัมพูชาจะชี้แจงก่อนลำดับแรก โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 15.00 น. และทุกข่าวเบรก ไปจนถึง 17.00 น. ต่อด้วยข่าวช่วงค่ำ และไปฟังนักวิชาการ เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์ถึงทิศทางและโอกาสของไทยกัน
มาย้อนดูประวัติศาสตร์การพิจารณาตัดสินของศาลโลกกันอีกสักหน่อย ว่าคดีพิพาทเรื่องเขตแดน พื้นที่ระหว่างประเทศ ในข้อเขียนวิชาการของอาจารย์พนัส ทัศนียานนท์ ร่วมกับอาจารย์ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช และวิพล กิติทัศนาสรชัย ศึกษาไว้ในงานวิจัยวิชาการชุด เขตแดนของเรา เพื่อนบ้านอาเซียนของเรา ว่าไม่ได้มีเฉพาะปัญหาของไทยและกัมพูชา
ศาลโลกเคยทำหน้าที่ระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตแดน กรณีอำนาจอธิปไตยเหนือบริเวรพรมแดนระหว่างเบลเยี่ยมกับเนเธอร์แลนด์ แล้วยังมีข้อพิพาทระหว่างเดนมาร์กกับนอร์เวย์ เกี่ยวกับการกำหนดเขตแดนทางทะเลระหว่างเกาะกรีนแลนด์กับแจน มาเยน
อีกกรณีข้อพิพาทระหว่างกาตาร์กับบาห์เรน เกี่ยวกับการกำหนดเขตแดนทางทะเล รวมถึงข้อพิพาทระหว่างบอตสวานากับนามิเบีย ข้อพิพาทอาณาเขตทางดินแดนแคเมอรูนและไนจีเรีย ซึ่งคดีหลังสุดนี้ มีการนำไปสู่การปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลก โดยสหประชาชนเข้ามามีบทบาทกำกับดูแลแล้วด้วย