ศธ. เตรียมทบทวนเงินอุดหนุนชุดนักเรียนสอดคล้องค่าใช้จ่ายปัจจุบัน
อีก 3 สัปดาห์ จะเปิดเรียนปีการศึกษาใหม่ ช่วงวันหยุดนี้ผู้ปกครองจึงพาบุตรหลาน ไปเลือกซื้อเครื่องแบบนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนกันอย่างคึกคัก โดยผู้ปกครองแต่ละคน มีวิธีการเลือกซื้อชุดนักเรียนแตกต่างกัน ก็เพื่อจะลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด
ผู้ปกครองคนหนึ่งซื้อชุดใหม่ให้หลาน 3 ชุด เสียค่าใช้จ่ายไปกว่า 1600 บาท แต่เลือกที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวเล็กน้อยเพื่อให้ใส่ได้นาน ส่วนอีกครอบครัวเลือกที่จะซื้อชุดใหม่ 1 ชุด และกางเกงใหม่อีก 2 ตัว เพราะเสื้อเดิม 2 ตัวที่มีอยู่ ยังใช้ได้ จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ไม่น้อย ทั้งนี้หลายคนสะท้อนว่า ยิ่งใกล้ช่วงเปิดเทอมต้องบริหารจัดการเงินที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า แม้จะได้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลในโครงการเรียนฟรี เรียนดี 15 ปี แต่ก็ยังไม่เพียงพอ
ปี 2556 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ โครงการเรียนฟรี เรียนดี 15 ปี จำนวนกว่า 41,800 ล้านบาท ใน 5 รายการ คือ ค่าจัดการเรียนการสอน, ค่าหนังสือ, อุปกรณ์การเรียน, เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
งบประมาณถูกโรงเรียนจัดสรร แบ่งเป็นค่าเครื่องแบบนักเรียน ให้ผู้ปกครองไปซื้อเอง เฉลี่ยคนละ 2 ชุด/ปี ในอัตราที่แตกต่างกัน เช่น ระดับประถม 360 บ./คน/ปี ระดับมัธยมอยู่ระหว่าง 450 - 500 บ./คน/ปี แน่นอนว่าเป็นเพียงเงินช่วยเหลือส่วนหนึ่งเท่านั้น
แต่เมื่อมีผู้ผลิตชุดนักเรียน เปิดเผยว่า อาจจะขอปรับราคา จากผลของค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งจะกระทบต่องบประมาณอุดหนุนค่าเครื่องแบบนักเรียน แต่วรวิทย์ ศิริวนิชสุนทร เจ้าของร้านห้างตราสมอ บางลำพู ผู้จัดจำหน่ายชุดนักเรียนรายย่อย ยืนยันว่า ปีนี้ยังไม่ปรับราคาจำหน่าย เนื่องจากต้นทุนไม่ได้สูงขึ้นกว่าเดิม แต่หากรัฐบาลจะปรับเงินอุดหนุนให้กับผู้ปกครอง ก็ถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม
เสียงเรียกร้องจากฝั่งผู้ผลิตชุดนักเรียนที่เกิดขึ้น กระทรวงศึกษาธิการจึงเตรียมทบทวนการจัดสรรงบประมาณอุดหนุน ด้วยการขอรายละเอียดที่ชัดเจนจากกรมการค้าภายใน เพื่อคำนวณงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้น โดยพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ยอมรับว่า เงินอุดหนุนคงปรับไม่ทันในปีนี้ แต่ในปีการศึกษา 2557 อาจเปลี่ยนแปลง แต่ก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลต้นทุนผู้ผลิต ที่จะนำมาทบทวนงบอุดหนุนฯ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา