ทีโอทีทำสัญญาเช่าช่องสัญญาณไอพีสตาร์ไปอีก 8 ปี เน้นบรอดแบนด์ทั่วประเทศ
ทีโอที ต่อสัญญาเช่าใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมไอพีสตาร์เพิ่มอีก 8 ปี หวังขยายปริมาณการใช้งานเสริมศักยภาพความเป็นผู้นำด้านธุรกิจบรอดแบนด์
นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม กล่าวว่า ไทยคม ได้ให้ความไว้วางใจในการต่ออายุสัญญาเช่าใช้บริการดาวเทียมไอพีสตาร์ เพื่อช่วยรองรับ และสนับสนุนการให้บริการในโครงการต่างๆ ที่สำคัญของภาครัฐ โดยบริการช่องสัญญาณดิจิตอลดาวเทียมไอพีสตาร์จะช่วยเพิ่มศักยภาพการให้บริการของทีโอทีได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทีโอทีได้เช่าใช้ช่องสัญญาณไอพีสตาร์ ถึง 7 ปี (ตั้งแต่ปี 2548-2555) แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของไอพีสตาร์ ในการช่วยส่งเสริมให้โครงการในภาครัฐหลายโครงการประสบความสำเร็จ เช่น โครงการ MOENet เป็นต้น ส่งผลให้ทีโอทีมั่นใจ และลงนามในสัญญาต่อไปอีก 8 ปี โดยเป็นการขยายปริมาณการใช้งานเพิ่มเติม และคาดจะมีการใช้งานจนเต็มปริมาณช่องสัญญาณที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศไทย
“การต่อสัญญาระหว่าง ไทยคม กับทีโอที ช่วยเพิ่มปริมาณการใช้งานช่องสัญญาณไอพีสตาร์ให้มากขึ้น อยู่ในระดับที่สูงเกินกว่าจุดคุ้มทุนของโครงการไอพีสตาร์ไปมาก โดยปัจจุบันมีการใช้งานไอพีสตาร์โดยรวมแล้วถึง 53%” นางศุภจีกล่าว
นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นโยบายหลักของทีโอที คือ การก้าวสู่ศูนย์กลางโทรคมนาคมอาเซียน ดังนั้น การให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียม จึงเป็นหนึ่งในบริการที่จะทำให้ทีโอทีมีบริการที่ครบวงจร และมีส่วนช่วยในการสนับสนุนให้ประเทศไทยพร้อมก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ดังนั้น ทีโอทีจึงได้ดำเนินการต่อสัญญาเพื่อเช่าใช้ช่องสัญญาณดาวเทียม
ไอพีสตาร์ไปอีก 8 ปี โดยช่องสัญญาณดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนประสิทธิภาพในการให้บริการ และรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจธุรกิจบรอดแบนด์ของทีโอทีในประเทศไทย
นายยงยุทธกล่าวว่า ทีโอทีจะใช้ช่องสัญญาณที่ขยายเพิ่มเติมในการขยายโอกาสทางธุรกิจและสร้างรายได้เพิ่มในโครงการภาครัฐและภาคธุรกิจ โดยการสื่อสารผ่านดาวเทียมมีจุดเด่นในการให้บริการในพื้นที่ที่การติดต่อสื่อสารยังไม่ทั่วถึงทั้งภายในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการ ยกระดับคุณภาพบริการทั้งโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต อีกทั้ง ทีโอทีพร้อมที่จะให้บริการในโครงการต่างๆ ของภาครัฐได้อย่างทันท่วงที อาทิ การให้บริการในโครงการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO: Universal Service Obligation), การเชื่อมต่อโครงข่ายโทรศัพท์ 3G สำหรับการให้บริการในถิ่นทุรกันดาร, โครงการ One Tablet Per Child (OTPC) ของกระทรวงไอซีที, โครงการกองทุนหมู่บ้าน รวมถึงโครงการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล เป็นต้น อันจะเป็นการสร้างประโยชน์นานับประการให้กับประเทศไทย และเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งของระบบโทรคมนาคมไทยที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไปได้ในอนาคต