สตง.ชี้ช่องให้แพทย์ชนบทร้อง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวภายหลัง เข้าให้ข้อมูลและขอให้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุข ใน ประเด็นเกี่ยวกับการออกระเบียบ หลักเกณฑ์ค่าตอบแทนบุคลากรแบบใหม่
และการดำเนินการในทางไม่ชอบของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการจัดซื้อแถบตรวจน้ำตาลแจก อสม.กว่า 81,000 ชุด โดยนายประพีร์ อังกินันทน์ รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ลงมารับเรื่องนี้ด้วยตนเอง โดยชมรมแพทย์ชนบท ได้ร้องขอให้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบ ใน 2 ประด็นดังนี้
1.เรื่องขอให้ตรวจสอบเงินค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายและการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนของกระทรวงสาธารณสุข
เนื่องจาก สตง.เคยทักท้วง การออกระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนของกระทรวงสาธารณสุขมา ฉบับที่ 7,8(เดิม) มาแล้ว 2 ครั้งก่อนหน้านี้ โดยระบุชัดว่า การจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนของกระทรวงสาธารณสุข ตามข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2544 ที่มีเจตนารมณ์ในการสร้างแรงจูงใจให้มีเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน หรือ พื้นที่ทุรกันดารและแก้ปัญหาความขาดแคลนบุคคลากรในหน่วยบริการได้ แต่กระทรวงสาธารณสุขกลับ เลี่ยงประเด็นเปลี่ยนเจตนารมณ์ใหม่ และออกระเบียบที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมส่งผลให้รัฐใช้งบประมาณแผ่นดินไม่สมประโยชน์ ทำให้เกิดความขาดแคลนบุคลากรและทำให้ประชาชนในชนบทได้รับความเดือดร้อน และสูญเสียงบประมาณในการผลิตบุคลากรกว่าแสนล้านไป
ประกอบกับการออกระเบียบ P4P ก็มีลักษณะที่ใช้งบประมาณซ้ำซ้อนเป็นภาระ และไม่เป็นไปตามผลงานจริง แต่ในคู่มือและระเบียบ ระบุให้ดำเนินการรายกิจกรรม และวิธีคิดกรอบงบประมาณไม่ชัดเจน ซ้ำซ้อน จะทำให้ผู้ปฏิบัตินับตั้งแต่ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ตลอดจน จนท.ที่เต้าข้อมูล ถูกชี้มูลความผิด ส่อไปในทางทุจริต แบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยผู้ออกระเบียบไม่สามารถคุ้มครองเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติได้ และขอให้ดำเนินการตรวจสอบกับ รพ.ที่กล่าวอ้างว่าดำเนินการแบบ P4P แบบง่ายๆได้จริง ว่าได้มีการลงบันทึกและตรวจสอบการทำงานการจ่ายค่าตอบแทน แบบไม่สมยอมกัน หรือฮั้วกันจริงหรือไม่ โดยด่วน
2.ประด็น การจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดแบบพกพาของกระทรวงสาธารณสุข แจก อสม. กว่า 81,685 เครื่อง จำนวน 147,033,000 บาทนั้น ได้ร้องในประเด็น ความไม่เหมาะสม ที่จะให้ อสม.ซึ่งเป็นชาวบ้าน ไม่มีใบประกอบโรคศิลปะ จึงไม่มีอำนาจในการประกอบวิชาชีพด้านเวชกรรมการเจาะเลือดผู้ป่วย เพราะเลือดผู้ป่วยอาจแพร่กระจายสู่ผู่อื่น หรือนำเชื้อโรคจากภายนอกเข้าสู่ร่างการผู้ถูกเจาะได้ หากผู้กระทำไม่มีความเชี่ยวชาญพอ และจะทำให้ปชช.ในชนบทกลายเป็นพลเมืองชั้นล่างมากขึ้น เพราะงานเจาะเลือดถูกเจาะโดยผู้เชี่ยวชาญอสม.(ชาวบ้าน) แต่คนรวยในเมืองถูกเจาะโดยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ สร้างความเหลื่อมล้ำในคุณภาพบริการมากขึ้น และมีการดำเนินการสำเร็จไปแล้วอย่างน้อย 1 จังหวัด และอยู่ในระหว่างดำเนินการอีกมากมาย
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขเพิ่งมาสั่งให้ชะลอหลังทราบว่า ชมรมแพทย์ชนบทตามกลิ่นเรื่องนี้อยู่ ทั้งที่ก่อนตั้งงบประมาณควรตรวจสอบก่อน และได้โอนงบประมาณลงไปที่จังหวัดแล้วตั้งแต่เดือนมี.ค. แต่กลับจงใจชัดเจน เพราะเขียนในโครงการว่าจะให้แก้กฎหมายในภายหลังจากที่จัดซื้อแล้ว ซึ่งเป็นการบังคับให้แก้กฎหมายโดยปริยาย และเรื่องนี้สภาเทคนิคการแพทย์ ในฐานะที่เกี่ยวข้องกับการเจาะเลือดตรวจ ได้มีมติเป็นทางการแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับการให้อสม.มีอำนาจในการเจาะเลือดผู้ป่วย และเครื่องตรวจน้ำตาลปกติไม่มีการจัดซื้อกัน ปกติบริษัทใช้แถมเมื่อจัดซื้อแถบตรวจน้ำตาล เป็นต้น จึงส่อไปในทางเจตนาส่อไปในทางทุจริตชัดเจน
รักษาราชการรักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แจ้งว่าติดตามข่าวเรื่องนี้เช่นกัน และได้สั่งการทันที ว่าจะให้ผู้ที่รับผิดชอบเรื่องค่าตอบแทนท่านเดิมดูแลต่อ เพราะจะได้ตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาศึกษาข้อมูลใหม่ และจะได้ตรวจสอบเรื่องนี้ให้ละเอียด และคงต้องขอให้ชมรมแพทย์ชนบทมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วย
ส่วนเรื่องเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดแบบพกพานั้น ท่านได้สั่งการเจ้าหน้าที่ทันที ให้สตง.ภาคต่างๆลงไประงับเรื่องทันที