ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งได้รับแรงกดดันจากหลายฝ่าย ยืนยันว่า สถานการณ์เงินบาทขณะนี้ ยังไม่มีความจำเป็นออกมาตรการควบคุม แต่ระบุว่าจะนำข้อเสนอของทุกภาคส่วน ไปหารือกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ถึงแนวทางในการพิจารณาลดดอกเบี้ย
ภายหลังการประชุมหน่วยงานด้านเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหาค่าเงินบาท รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ทุกฝ่ายเห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ ควรที่จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาจากปัจจุบัน ที่อยู่ที่ร้อยละ 2.75 แต่หากว่าแบงก์ชาติ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยในอัตราเดิม ก็จะต้องมีมาตรการเสริม เพื่อบรรเทาปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนารัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ผู้ว่าแบงก์ชาติ ได้เตรียมมาตรการเพื่อที่จะลดผลกระทบค่าเงินบาทไว้แล้ว แต่ยังไม่เห็นความจำเป็นในการใช้มาตรการในขณะนี้ แต่ก็จะนำข้อห่วงใยเกี่ยวกับเงินบาทที่แข็งค่า ไปหารือกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ก่อนที่จะเข้าประชุมนายกิตติรัตน์ เชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังจะสามารถที่จะขยายตัวได้ดี
สำหรับการหารือของภาคเอกชนร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในช่วงเช้าวันนี้ ภาคเอกชนขอให้กระทรวงพาณิชย์ทำหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เร่งออกมาตรการช่วยเหลือ โดยเอกชนนำเสนอมาตรการ 5 ข้อ โดยเฉพาะการลดดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 1 พร้อมกันนี้ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ ต้องเร่งสนับสนุนการค้าชายแดนให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีมูลค่าอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท หรือ ร้อยละ 10 ของจีดีพี เพื่อชดเชยการส่งออกที่ขาดหายไปจากตลาดหลักในยุโรปและสหรัฐ
สำหรับสินค้าสำคัญที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า โดยมูลค่าส่งออกลดลงตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคมสูงสุด คือ อัญมณีและเครื่องประดับ ลดลงกว่าร้อยละ 49 รองลงมาคือ น้ำตาลทราย ลดลง 38 และกุ้งสด แช่เย็นและแช่แข็งลดลงร้อยละ 21