เครือข่าย
ตัวแทนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ปล่อยลูกโป่งสัญลักษณ์ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ ฉบับที่ 87และ 98 เพื่อสร้างหลักประกันให้แรงงานมีสิทธิในรวมตัวและเจรจาต่อรองกับนายจ้าง ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องหลัก เนื่องในวันกรรมกรสากลปี 2556
โดยเครือข่ายแรงงานกว่า 1,000 คน จัดกิจกรรมรณรงค์โดยการเดินเท้าจากบริเวณหน้ารัฐสภาไปยังทำเนียบรัฐบาล พร้อมกิจกรรมล้อเลียนการเมือง ที่เน้นไปเรื่องนโยบายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ระบุว่า จากการขับเคลื่อนมากว่า 10 ปี ยังไม่มีรัฐบาลใดให้ความสำคัญกับอนุสัญญาไอแอลโอ ซึ่งถือเป็นความล้าหลัง ทั้งที่ไทยเป็นหนึ่งใน 180 ประเทศสมาชิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ จึงต้องการให้รัฐบาลมีความจริงใจกับผู้ใช้แรงงาน ให้มีสิทธิเจรจาต่อรองกับนายจ้าง เพราะยังพบผู้ใช้แรงงานจำนวนไม่น้อย ที่ถูกนายจ้างกดขี่ โดยที่แรงงานไม่มีสิทธิต่อรองใดๆ
สำหรับข้อเรียกร้องเร่งด่วน ประกอบด้วย ขอให้รัฐยุตินโยบายละเมิดสิทธิแรงงาน, สร้างระบบสวัสดิการสังคม ลดค่าครองชีพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ และเร่งรัดปฏิรูประบบประกันสังคม ให้มีความโปร่งใส เป็นธรรม และยังมีข้อเรียกร้องอีก 7 ข้อ ทั้งการกำหนดค่าจ้างที่เป็นธรรมครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน ให้ผู้ใช้แรงงานที่ทำงานในเขตพื้นที่สถานประกอบการใดๆ ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ จัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน รวมถึงจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในที่ทำงาน
ด้านสภาองค์การลูกจ้าง 13 แห่ง และสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จัดกิจกรรมเคลื่อยขบวน บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังสนามหลวง พร้อมยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี 11 ข้อ ซึ่งเนื้อหาที่เรียกร้องสอดคล้องกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
ขณะที่ หลายจังหวัดได้จัดกิจกรรมวันกรรมกรสากล เช่นที่อ.แม่สอด จ.ตาก มีแรงงานชาวพม่าเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,000 คน โดยกิจกรรมจะเน้นความสมัคคี และให้เห็นถึงความสำคัญของแรงงานพม่า ที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย
ที่จ.พิษณุโลก ผู้ใช้แรงงานร่วมกันทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ใช้แรงงานที่เสียชีวิตจากการทำงาน ส่วนจ.ศรีสะเกษ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ต้องการให้รัฐบาลดูแลสวัสดิการ โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลที่ยังไม่ครอบคลุม เช่นเดียวกับภาคใต้ ที่จังหวัดกระบี่ และจังหวัดสตูล กลุ่มผู้ใช้แรงงานเรียกร้องให้รัฐบาลเอาผิดกับนายจ้าง ที่ไม่ยอมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท รวมทั้งให้รัฐบาลยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ