ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว สวนทางสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ คลี่คลาย

เศรษฐกิจ
29 เม.ย. 68
13:50
0
Logo Thai PBS
 เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว สวนทางสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ คลี่คลาย
ศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ วิเคราะห์เศรษฐกิจโลก คาดชะลอตัว-เสี่ยงสูง ชี้สงครามการค้า จีน-สหรัฐฯ เริ่มคลี่คลาย ขณะที่เศรษฐกิจไทย Q1โตสูง ส่งออกพุ่ง 15.2% หวั่น “ภาษีทรัมป์” อาจฉุดรั้ง ประเมิน GDP ไทยขยายตัวเพียง 1.5-1.8%

วันนี้ (29 เม.ย.2568) ศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ วิเคราะห์เศรษฐกิจโลก โดยระบุว่า แม้ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนเริ่มมีสัญญาณผ่อนคลายและทิศทางที่ดีขึ้น แต่ทางกลับกันเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับการส่งออกของไทยที่ในช่วงไตรมาสแรกเติบโตสูงถึง 15.2 %แต่คาดว่าไตรมาส 2 เป็นต้นไป อาจได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งไทยและหลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญเช่นกัน

ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ พบว่า แย่ลง เนื่องจากนโยบายกีดกันทางการค้าที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดย IMF คาดการณ์โดยไม่รวมผลของการเลื่อน Reciprocal Tariff 90 วันว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวเพียง 1.8% และ 1.7% ในปี 2568 และ 2569 จากเดิมที่ 2.7% และ 2.1%

สาเหตุจากความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจและการค้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงภาพรวมอุปสงค์ที่อ่อนแอลง ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวว่า สหรัฐฯ จะได้รับชัยชนะอย่างสมบูรณ์ หากเรียกเก็บภาษีสูงถึง 20-50% ต่อประเทศคู่ค้าภายในเวลา 1 ปีต่อจากนี้

ประธานาธิบดีทรัมป์

ประธานาธิบดีทรัมป์

ประธานาธิบดีทรัมป์

ภายใต้ความเสี่ยงขาลง (Downside risk) ที่เพิ่มขึ้นจากความตึงเครียดทางการค้า ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง สะท้อนความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2565 อัตราการว่างงานสูงขึ้น ค่าจ้างที่โตช้าสุดในรอบ 8 เดือน และดัชนี PMI ภาคบริการที่ขยายตัวชะลอลง ส่วนภาคการผลิตยังคงซบเซา

และแม้การลดอัตราภาษีศุลกากรและการบรรลุข้อตกลงทางการค้าอาจช่วยบรรเทาความเสี่ยงภาวะถดถอย (Recession) แต่คาดว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในปีนี้ ศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้สู่ระดับ 3.50-3.75% ในช่วงสิ้นปี เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจและผ่อนคลายความตึงตัวทางการเงินในระยะข้างหน้า

เช่นเดียวกับเศรษฐกิจของยูโรโซนและญี่ปุ่นส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจน อาจหนุนให้ธนาคารกลางทั้งสองแห่งใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง และภายใต้ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าที่สูงขึ้น

IMF คาดการณ์เศรษฐกิจยูโรโซน ขยายตัว 0.8% และ 1.2% ในปี 2568 และ 2569 จากเดิมที่ 1.0% และ 1.4% ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นคาดว่าจะขยายตัว 0.6% ในปี 2568 และ 2569จากเดิมที่ 1.1% และ 0.8% ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่รายงานออกมาต่ำกว่าคาดในระยะนี้

ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจยูโรโซนยังอ่อนแอและส่งสัญญาณชะลอตัวมากขึ้น สะท้อนจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลงแรงในเดือนเม.ย.สู่ระดับต่ำสุด นับตั้งแต่พ.ย.2566 ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (ZEW) ลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2565 และ ดัชนี PMI ภาคบริการกลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน และภาคการผลิตที่ยังหดตัวต่อเนื่อง

ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้น ทั้งจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ รวมถึงแรงกดดันด้านราคาหลังอัตราเงินเฟ้อในกรุงโตเกียว (Tokyo CPI) ปรับเพิ่มขึ้นมากสุดในรอบ 2 ปี ซึ่งอาจเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการลงทุนของภาคธุรกิจได้ในระยะข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ ประเมินว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่ระดับ 1.75% ณ สิ้นปี 2568 จากปัจจุบันที่ 2.25% ขณะที่ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งปีหลัง

ในขณะที่สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เริ่มผ่อนคลายท่าทีต่อความขัดแย้งทางการค้า แต่การบรรลุข้อตกลงอาจไม่ได้เกิดขึ้นเร็ว จากการคาดการณ์อ้างอิง (Reference Forecast) ของ IMF ประเมินว่า GDP จีนในปี 2568 จะเติบโต 4.0% จากเดิมคาด 4.6% แม้ทรัมป์กล่าวอ้างว่า จีนได้เริ่มพูดคุยกับสหรัฐฯ แต่จีนออกมาปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าว

นอกจากนี้ จีนประกาศพร้อมตอบโต้ชาติอื่น หากทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ ในรูปแบบที่ส่งผลเสียต่อจีน อย่างไรก็ตาม จีนกำลังเริ่มพิจารณายกเว้นภาษีในอัตรา 125% กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ บางรายการ เช่น เคมีภัณฑ์

ท่าทีของจีนและสหรัฐฯ ล่าสุด อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของการผ่อนคลายความตึงเครียดทางการค้า แต่การเข้าสู่โต๊ะเจรจาและการบรรลุข้อตกลงทางการค้าเพื่อลดภาษีอย่างมีนัยสำคัญนั้น อาจไม่ได้เกิดขึ้นเร็วอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกรุงศรีประเมินว่า แม้ทั้งสองชาติอาจปรับลดภาษีศุลกากรระหว่างกันลงสู่ระดับราว 60% แต่ผลกระทบยังค่อนข้างมาก โดย GDP และการส่งออกจีนในระยะยาวจะลดลง -0.63% และ -5.71% ตามลำดับ ใกล้เคียงกับกรณีที่เก็บภาษีมากกว่า 100% ซึ่งคาดว่าจะกระทบ GDP -0.75% และการส่งออก -6.08%

สำหรับเศรษฐกิจไทย แม้การส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสแรกเติบโตสูง แต่การปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อาจส่งผลให้การส่งออกทั้งปีไม่เติบโต มูลค่าส่งออกเดือนมี.ค.ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์และขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี ท่ามกลางแรงกดดันจากความไม่แน่นอนขอนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ รายงานมูลค่าส่งออกในเดือนมี.ค.อยู่ที่ 29.5 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ที่ 17.8% หากหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำ มูลค่าส่งออกขยายตัว 15.1% สินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (+80.2%) แผงวงจรไฟฟ้า (+41.5 %) ยางพารา (+19.5%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (+19.1%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (+17.3%) และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+5.6%)

ส่วนการส่งออกสินค้าบางประเภทหดตัว เช่น น้ำตาลทราย (-27.7%) ข้าว (-23.4%) และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-15.1%) ด้านตลาดส่งออก พบว่า ขยายตัวในทุกตลาดหลัก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ และจีนที่โตสูง 34.3% และ 22.2% ตามลำดับ สำหรับในไตรมาสแรกของปี 2568 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 81.5 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 15.2%

มูลค่าส่งออกในเดือนมี.ค.สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นผลจากปัจจัยชั่วคราวจากการเร่งนำเข้าเพื่อรองรับความไม่แน่นอนของมาตรการภาษีสหรัฐฯแม้จะมีการประกาศเลื่อนการบังคับใช้ภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariff) กับประเทศต่างๆ ออกไป 90 วัน แต่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าพื้นฐานที่ 10% และเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 145%

ขณะที่จีนโต้กับด้วยการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯในอัตรา 125% สถานการณ์ดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในช่วงต้นเดือนก.ค.นี้

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ ประเมินในกรณีเลวร้าย หากไทยต้องเผชิญกับอัตราภาษีนำเข้าตอบโต้ที่ 36% เกิน 6 เดือน หรือผลจากการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯว่าไทยเผชิญอัตราภาษีที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม (อัตราภาษีเดิมประกาศที่ 46%)จะทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ซึงการส่งออกในปี 2568 อาจไม่สามารถขยายตัว เมื่อเทียบกับปีก่อนนี้ ซึ่ง IMF ประเมิน GDP ไทยว่าจะโตต่ำสุด ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย

ศูนย์วิจัยกรุงศรีประเมินว่า หากการส่งออกไม่โตในปีนี้ GDP ไทยอาจขยายตัวเพียง 1.5-1.8% สำหรับมุมมองต่อเศรษฐกิจไทย IMF คาดว่า GDP จะขยายตัวเพียง 1.8% ในปี 2568 และ 1.6% ในปี 2569 เทียบกับประมาณการเดิมที่ 2.9% และ 2.6% ทั้งนี้ เป็นอัตราเติบโตต่ำกว่า 2% เพียงประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียน

ขณะเดียวกัน IMF ชี้ว่า ASEAN จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากนโยบายภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ เนื่องจากมีความเชื่อมโยงทางการค้ากับจีนและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการภาษีครั้งนี้

ประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.7% โดยได้รับทั้งผลกระทบระยะสั้นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวแล้ว และยังถูกซ้ำเติมจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ

เบื้องต้นมีการประมาณการ GDP ของไทยในปี 2568 ภายใต้ 3 ฉากทัศน์ คือ หากสหรัฐฯ คงอัตราภาษีนำเข้าพื้นฐานที่ 10% ตลอดทั้งปี คาดว่า GDP ไทยจะขยายตัวที่ 2.2–2.4% หรือกรณีที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการภาษีตอบโต้ที่ 36% เป็นระยะเวลา 3–6 เดือน GDP อาจชะลอลงมาอยู่ที่ 1.9–2.1%

และหากมาตรการภาษีตอบโต้ดำเนินต่อเนื่องเกิน 6 เดือน หรือหากไทยคู่แข่งประสบความสำเร็จในการเจรจากับสหรัฐฯ จนทำให้อัตราภาษีนำเข้าต่ำกว่าไทย กรณีดังกล่าว GDP ไทยอาจขยายตัวเพียง 1.5–1.8% ในปีนี้

ทั้งนี้ การจัดทำฉากทัศน์ดังกล่าว สะท้อนความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐ กิจโลก ซึ่งอาจส่งผลต่อภาคการส่งออก การลงทุน และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจไทยตลอดช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้

อ่านข่าว:

 "สงครามการค้า 2 มหาอำนาจ" ฟาดฟัน "ไทย" ดันสินค้าเข้าแทรก?

จับตาสินค้าเกษตรไทยในยุคทรัมป์ 2.0 "โอกาส" และ "ความเสี่ยง" 

นักวิชาการ จี้ รบ. เร่งคลอดมาตรการ ป้องกันจีนสวมสิทธิ์สินค้าไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง