ศาลรธน.ยืนยันทำหน้าที่ตามเดิม หลังปชช.บางกลุ่มประท้วง กรณีรับคำร้องค้านแก้รธน.
นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขณะนี้ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีการร้องขอตำรวจให้ดูแลความปลอดภัย และยังไม่ได้มีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นพิเศษแต่อย่างใด ส่วนการจัดกำลังเจ้าหน้าที่มาคุ้มกันบ้านพักของคณะตุลาการนั้นก็ยังอยู่ในรูปแบบปกติ
ส่วนกรณีที่กลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป.ประกาศยกระดับการชุมนุม โดยการระดมมวลชน 100,000 คน ในวันที่ 8 พฤษภาคมนั้น นายพิมลกล่าวว่า ยังไม่ได้มีการหารือหรือวางแผนเตรียมการรับมือ เพราะเชื่อว่า ทุกอย่างน่าจะเป็นไปตามปกติและเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ขณะที่เมื่อวานนี้ (2พ.ค.56) กลุ่มสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา นำโดย นายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล และนายกฤช อาทิตย์แก้ว สว.กำแพงเพชร พร้อมด้วยสส.และสว. กว่า 20 คน ร่วมกันแถลงข่าวกรณีทำจดหมายเปิดผนึกคัดค้าน และไม่ยอมรับการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ ในการรับคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ของสมาชิกรัฐสภา 312 คน โดยแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อใหญ่ ดังนี้
ข้อแรก เป็นการชี้ให้เห็นถึงขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไม่มีอำนาจในการรับคำร้องกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาไว้พิจารณา และชี้ให้เห็นว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ข้อสอง รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้สิทธิประชาชนในการใช้สิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เลย เช่นเดียวกับการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 ที่ต้องเสนอเรื่องผ่านอัยการสูงสุดเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อน เพราะสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญนั้น มิใช่สิทธิส่วนบุคคลของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นสิทธิที่กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์สาธารณะของคนทั้งประเทศ
ดังนั้น การจะปล่อยให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งใช้สิทธิโดยลำพังต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงโดยที่ไม่ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนนั้น อาจส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะได้ เนื่องจากการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ และข้อสาม พูดถึงมาตรฐานการรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่อาจยอมรับได้ และการเร่งรัดพิจารณารับคำร้องอย่างผิดปกติวิสัยและขาดหลักความเสมอภาคในการพิจารณารับคำร้อง
นอกจากนี้ ยังพาดพิงถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน ที่มีมติรับคำร้องไว้พิจารณา โดยอ้างว่าทั้ง 2 คน มีส่วนได้เสียในรัฐธรรมนูญ เพราะเคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ย่อมไม่สมควรที่ตุลาการ 2 คนดังกล่าว จะร่วมพิจารณาคำร้องนี้ตั้งแต่แรก เพราะเป็นการขัดกันแห่งประโยชน์อย่างชัดแจ้ง
ขณะที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการขยายเวลาชี้แจงข้อกล่าวหาให้สมาชิกรัฐสภาบางส่วนออกไปอีก 15 วันนั้น โดยนายพร้อมพงศ์ ยืนยันว่า จะไม่มีการส่งคำชี้แจงไปแน่นอน เพราะการกระทำดังกล่าวไม่ใช่การกดดัน หรือล้มล้าง แต่ทำไปตามหน้าที่ของผู้แทนประชาชน