10 วิธีการที่ทั่วโลกใช้ปราบปรามผู้สื่อข่าว ใน“วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก”
เนื่องด้วยวันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี ทางยูเนสโก (UNESCO) ได้กำหนดให้เป็น “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” เพื่อเป็นการย้ำถึงเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชน นั่นคือเสรีภาพของประชาชน เพื่อให้มวลมนุษยชาติตระหนักถึงความสำคัญของสื่อมวลชนที่จะต้องมีเสรีภาพ
แต่ปัจจุบันสื่อจำนวนไม่น้อยได้ถูกคุกคามทั้งจากรัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สื่อข่าวเปิดโปงการคอรัปชั่นและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงได้รวบรวม 10 วิธีการที่ทั่วโลกใช้ปราบปรามผู้สื่อข่าว เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวอย่างเสรีและเป็นธรรม
1. การทำร้ายร่างกาย
ในบางประเทศ อย่างเช่น ซีเรีย เติร์กเมนิสถาน และโซมาเลีย รัฐบาล กองทัพ และกลุ่มติดอาวุธทำร้ายร่างกายหรือสังหารผู้สื่อข่าว ที่ถูกมองว่าพยายามวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและการปฏิบัติของตน
2. การขู่จะขังคุก
ผู้สื่อข่าวยังเสี่ยงที่จะถูกตั้งข้อหาตามกฎหมายที่ใช้ปราบปรามการแสดงความเห็นอย่างสงบ หรือไม่ก็มีการตั้งข้อหาเท็จโดยมีแรงจูงใจทางการเมือง (อย่างเช่น ข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครองและฉ้อโกง) ทั้งนี้เพื่อขัดขวางไม่ให้มีการรายงานข่าว
3. การข่มขู่คุกคาม
รัฐบาลหลายประเทศพบว่าการข่มขู่ผู้สื่อข่าวหรือญาติของพวกเขาเป็นวิธีการที่ใช้ได้ผลเพื่อปิดปากพวกเขา
4. การจับตามอง
ในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งคิวบาและจีน นักเคลื่อนไหวและผู้สื่อข่าวมักประสบปัญหาในการรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากทางการมักเฝ้าติดตามการสื่อสารของพวกเขา
5. การปิดกั้นการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต
รัฐบาลที่กดขี่บางแห่งพยายามควบคุมการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเพื่อจำกัดการดำเนินงานของผู้สื่อข่าว
ทางการจีนได้ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ New York Times และ Bloomberg เป็นการชั่วคราว และยังห้ามไม่ให้เสิร์ชหาคำว่า ‘New York Times’ หลังจากสำนักข่าวเหล่านี้เปิดโปงข้อมูลด้านการเงินที่อื้อฉาวของผู้นำรัฐบาลจีนบางคน
6. การออกกฎหมายหมิ่นประมาทที่รุนแรง
บางประเทศมีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทอย่างมิชอบเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สื่อข่าววิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่รัฐบาลและผู้มีอิทธิพล
7. การเพิกถอนวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน
ในบางประเทศ รวมทั้งซีเรีย รัฐบาลปฏิเสธหรือเพิกถอนวีซ่าผู้สื่อข่าวต่างชาติเพื่อหยุดยั้งไม่ให้พวกเขาสอบสวนกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนผู้สื่อข่าวในประเทศก็เจอกับความเสี่ยงที่จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำงานเช่นกัน
8. การไม่ยอมสอบสวนเมื่อเกิดกรณีการทำร้ายผู้สื่อข่าว
การที่รัฐบาลไม่นำตัวผู้ทำร้ายผู้สื่อข่าวมาลงโทษ เป็นการส่งสัญญาณอย่างหนึ่ง ทำให้นักข่าวไม่กล้ารายงานข้อมูลในประเด็นที่ละเอียดอ่อน
9. การสั่งปิดหน่วยงานสื่อ
ทางการในหลายประเทศสั่งปิดหนังสือพิมพ์และสถานีวิทยุที่ถูกมองว่ามุ่งวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2555 ทางการซูดานได้สั่งพักการดำเนินงานของหนังสือพิมพ์สามฉบับ โดยใช้กฎหมายที่ให้อำนาจในการยุติการดำเนินงานของสิ่งพิมพ์ที่มีข้อมูลซึ่งถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ
10. สนับสนุนการใส่ร้ายป้ายสี
ในหลายประเทศ รัฐบาลส่งเสริมให้มีการใส่ร้ายป้ายสีผู้สื่อข่าวที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์ทางการ