ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วงถกพรรคการเมืองเห็นพ้องผุดเขตปกครองพิเศษ ยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน 3 จ.ใต้

การเมือง
15 มิ.ย. 54
11:27
60
Logo Thai PBS
วงถกพรรคการเมืองเห็นพ้องผุดเขตปกครองพิเศษ ยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน 3 จ.ใต้

การเสวนาในหัวข้อ “รัฐบาลใหม่กับแนวทางการแก้ปัญหาไฟใต้”ที่สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พรรคการเมืองส่วนใหญ่มีนโยบายเห็นด้วยกับการตั้งเขตปกครองพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และยกเลิกประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน

เวลา 13.30 น.ที่ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Siam Intelligence Unit  ร่วมกับมูลนิธิสันติชน ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และ มูลนิธิ ฟรีดิช นอมัน จัดเสวนาในหัวข้อ “รัฐบาลใหม่กับแนวทางการแก้ปัญหาไฟใต้” โดยเชิญตัวแทนจากพรรคการเมือง 6 พรรค เข้าร่วมตอบข้อสักถามถึงนโยบายและแนวทางจัดการกับปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ที่เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน  หากได้เป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานราชการ นักวิชาการ อาจารย์  นิสิต นักศึกษาเข้าร่วมเสวนา

ศ.ดร.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการเปิดวงเสวนาว่าปัญหาชายแดนภาคใต้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเร่งแก้ไขโดยเร็ว ซึ่งการจัดเสวนาขึ้นมาเป็นเวทีสาธารณะ เปิดรับมุมมองข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความไม่สงบ และเสนอแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่จะมาเป็นรัฐบาลต่อไป

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.เขต 6 พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)กล่าวว่า ปชป.เสนอจัดตั้งองค์กรถาวรตามที่เคยให้สัญญากับประชาชน โดยมี ศอ.บ.ต.ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ   เพราะปัญหาเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อยากมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ  โดยสามารถกำหนดยุทธศาสตร์พิจารณานโยบายและประเมินผลการทำงาน  เปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า กอ.รมน.ที่ทำให้เกิดเอกภาพในด้านนโยบาย ต้องการเน้นใช้สันติวิธีเป็นหลัก  ขณะที่ส่วนตัวเห็นว่าต้องมีให้การถอนกำลังทหารตั้งแต่รองแม่ทัพลงมาโดยให้มีการจัดตั้งกองกำลังประจำถิ่น หรืออาสาสมัครประจำถิ่น เพราะคนที่มาจากต่างถิ่น จะไม่รู้ประเพณีวัฒนธรรม

นายถาวร กล่าวถึงการยกเลิก พรก.ฉุกเฉินใน 3 อำเภอ ในพื้นที่ 3 จังหวัดเพราะได้ทำการสำรวจจากประชาชนมาแล้วประชาชน 55 % อยากให้ยกเลิกเพียงบางพื้นที่ โดยการยกเลิกจะค่อยๆยกเลิก ส่วนกำลังทหารนั้นต้องมีแม่ทัพภาคที่ 4 เท่านั้นที่จะดูแลเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ ขณะที่การดำเนินคดีต้องแก้ประมวลกฎหมายประมวลคดีอาญา แก้ไขให้พิจารณาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน 6 เดือน โดยให้เป็นความรับผิดชอบของนักการเมือง ทั้งนี้เรื่องของการเจรจากับผู้ก่อความไม่สงบจำเป็นต้องทำแต่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผย

นายมูฮำมัดซูลฮัน ลามะทาผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา มองว่าการเพิ่มอำนาจให้ ศอ.บ.ต. รวม จ.สงขลา จ.สตูล ด้วย  จ.สงขลาแตกต่างจาก 3 จังหวัดค่อนข้างมาก แต่มอง  จ.สตูล เป็นท่าเรือเป็นประตูเศรษฐกิจ นโยบายของพรรค จะรวม 3 จ.ชายแดนใต้และ จ. สงขลาบางพื้นที่ และอยากเพิ่มอำนาจในการวางนโยบายและวางงบประมาณแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งบางโครงการที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และจะผลักดันภารกิจกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้สมบูรณ์ อย่างเร็วและมากที่สุด อย่างไรก็ตามนายมูฮำมัดซูลฮันกล่าวว่าคนไทยทุกคนต้องยอมรับในเรื่องประวัติศาสตร์ให้ได้ด้วย

ด้านนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ผู้สมัคร ส.ส.และรองหัวหน้าพรรคคาตุภูมิ กล่าวว่าฝ่ายที่ก่อเหตุในปัจจุบันนี้ยังไม่หยุดก่อความไม่สงบ ถึงจะมีรัฐบาลใหม่แล้วก็จะยังมีเหตุอยู่ โดยมองว่าในภาวการณ์ที่สถานการณ์ปกติการกระจายอำนาจเป็นสิ่งที่ดี แต่ในส่วนของพรรคเห็นว่าการสถานการณ์แบบนี้ควรจัดการปกครองแบบพิเศษ โดยพรรคจะประกาศให้มีการพูดคุยกันกับผู้ก่อความไม่สงบ เพื่อไม่ให้เกิดความไม่สงบขึ้นอีก  เพราะประชาชนต้องการความปลอดภัย ยุติธรรม คุณภาพชีวิตที่ดี เมื่อมีองค์กรต้องเป็นองค์กรที่มีเอกภาพเพียง 1 องค์กรที่บริหารจัดการที่เดียวไม่ซ้ำซ้อน ที่เดียวครอบคลุมพื้นที่ ดูเรื่องนโยบาย สั่งการได้ และรัฐมนตรีต้องเป็นคนในพื้นที่ซึ่งต้องไปหาประชาชนทุกวัน   

นายอารีเพ็ญ กล่าวถึงความ ยุติธรรมและความรุนแรงในพื้นที่  ว่า ต้องยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน เพราะเป็นสิ่งหนึ่งที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน ทำให้เด็กหนุ่มในพื้นที่ไปเข้าร่วมกับผู้ก่อความไม่สงบ  ทั้งนี้ในเรื่องกระบวนการยุติธรรม ต้องให้คดีความมั่นคงแยกออกจากศาลยุติธรรม

ด้าน ศ.พล.ท.ดร.สมชาย วิรุฬหผล ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคความหวังใหม่ กล่าวถึงแนวทางในการกระจายอำนาจว่า ส่วนกลางต้องลดบทบาทตัวเองให้น้อยที่สุดเหลือเพียงเรื่องความมั่นคง การคลัง การทหาร เป็นต้น และอยากให้กระจายอำนาจ ต้องให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการปัญหาของตนเอง ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงบริหารจัดการเอง เช่นสร้างรูปแบบการปกครองลักษณะคล้าย กทม.โดยตั้งเป็นมหานครปัตตานี  แต่อย่างไรก็ตามต้องยุติปัญหาให้ได้ก่อน โดยการเจรจากับผู้ก่อความไม่สงบ

พล.ต.ท.ฉลอง สนใจ คณะทำงานด้านยุทธศาสตร์และนโยบายภาคใต้พรรคเพื่อไทย  กล่าวว่าแนวทางการแก้ปัญหาภาคใต้นั้น เพื่อไทยยึดแนวทางพระราชดำริ คือ 3 จังหวัด ไม่ต้องการแบ่งแยกดินแดน   ต้องการสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรมนูญ ต้องการเสรีภาพด้านอัตลักษณ์ โดยพรรคเพื่อไทยกำหนดแนวทางในการจัดเขตปกครองพิเศษ โดยให้ประชาชนใน 3 จังหวัดเป็นผู้ตัดสินใจ และผู้ว่าราชการต้องมาจากการเลือกตั้ง   ส่วนการกระจายอำนาจถ้ายังมีสถานการณ์เกิดขึ้นรายวันจะกระจายอย่างไรก็จะยังมีปัญหาอยู่   ซึ่งจะต้องยุติปัญหาให้ได้ก่อน โดยเข้าร่วมพูดคุยหารือกับองค์กรต่างๆในพื้นที่ภาคใต้

ทั้งนี้มองว่าสถานการณ์จริงมีเพียง 30 % แต่ว่าสถานการณ์สร้างมีถึง 70% ซึ่งต้องสร้างความสันติทำให้เหตุร้ายรายวันยุติก่อน โดยต้องเกิดจากการเจรจา พรรคเพื่อไทยได้ทดลองทำมาแล้วในบางพื้นที่ แต่ไม่เป็นข่าวเพราะเป็นพรรคฝ่ายค้าน ส่วนประเด็นการยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน จะทำเป็นโมเดลในการยกเลิก พรก.โดยยกเลิกทีละอำเภอ

นพ.แวมาฮาดี แวดาโอ๊ะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคแทนคุณแผ่นดินกล่าวว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน เป็นของขวัญให้คน 3 จังหวัด และทันทีที่บริหารประเทศจะยกเลิกนิคมอุสาหกรรมแห่งความมั่นคง ที่ทุกคนได้ประโยชน์ยกเว้นประชาชน  ซึ่งประชาชนต้องเป็นเจ้าของในการจัดการพื้นที่ ต้องลบผู้ว่าราชการออก น้ำมันที่มีอยู่ในอ่าวไทยที่คน จ.นราธิวาส ไม่ได้ประโยชน์ต้องยกเลิก เพื่อทำไปสู่สันติสุขจะใช้โอมานโมเดล โดยประเทศใดที่ต้องการมีสันติสุขต้องมี 6 ข้อ ต้องมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เช่นผู้นำไม่ต้องอารักขา ประเทศต้องมีรายได้ที่ดีพอค่าใช้จ่าย ต้องมีความยุติธรรม ต้องไม่มีสิ่งมึนเมาและสุรา ต้องมีสวัสดิการที่ดีตั้งแต่เกิดจนตาย และต้องมีการคุ้มครองในสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน สำหรับผู้ที่กระทำความผิด ให้อภัย ขออภัย เจรจานั่งคุยกัน ต้องทำให้ประชาชนมีคุณธรรมจริยธรรม

นพ.แวมาฮาดี ย้ำว่ายิ่งมีเหตุการณ์ความไม่สงบยิ่งต้องยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน เพราะกฎหมายพิเศษริดรอนสิทธิของประชาชน ที่ประชาชนต้องจำยอม ซึ่งเลวร้ายมาก  เพราะเพียงแค่ต้องสงสัยก็จับกุมประชาชนได้แล้ว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง