ไทยขาดนักมวยอาชีพ เหตุเพราะการบริหารที่ห่วงผลประโยชน์
หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีนักมวยอาชีพระดับแม่เหล็ก อย่าง เขาทราย แกแล็กซี่ หรือแม้แต่พะเยาว์ พูนธรัตน์ เนื่องจากแนวทางการเฟ้นหานักมวยของสมาคมมวยสากลสมัครเล่นเปลี่ยนไปมาก ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเส้นทางคู่ขนานกับวงการมวยไทย แต่ในอดีตนักมวยอาชีพระดับแนวหน้าต้องพึ่งพาพื้นฐานจากมวยไทยทั้งนั้น
เส้นทางการก้าวขึ้นสู่อาชีพของนักมวยไทยมีความแตกต่างจากนักมวยสากล รวมทั้ง สหรัฐอเมริกา และในยุโรปอย่างสิ้นเชิง เพราะส่วนใหญ่นักมวยอาชีพของไทยจะมีพื้นฐานมาจากมวยไทย ทำให้กระดูกมวยแข็ง เมื่อนำไปฝึกฝนจะทำให้ฝึกง่าย ใช้เวลาขัดเกลาไม่นานก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นได้ ในอดีตมีตัวอย่างที่ชัดเจน คือ เขาทราย แกแลคซี่ , ขาวผ่อง สิทธิชูชัย และพะเยาว์ พูนธรัตน์ ต่างมีจุดเริ่มต้นมาจากมวยไทยทั้งสิ้น แต่วิธีการบริหารงานในสมาคมมวยสากลสมัครเล่นปัจจุบันทำให้ต้องเดินคู่ขนาน
กรณีที่จีนผลักดัน ซู ชิ หมิง จนประสบความสำเร็จก้าวสู่มวยอาชีพอย่างเต็มตัว นักวิจารณ์มวย มองว่า จีนมีความพร้อมด้านบุคลากรนักกีฬามวยมากกว่าไทย เพราะมีระบบการคัดเลือกจากทั่วประเทศ นอกจากนั้นสมาคมมวยสากลของจีนยังสนับสนุนนักกีฬาอย่างเต็มที่ ไม่หวงตัวนักมวยไว้กับตัวเอง กว่าจะถึงเกณฑ์ไปต่อยอาชีพก็มักจะอายุมากจนเกินไปแล้ว เช่นกรณีของ ประมวลศักดิ์ โพธิ์สุวรรณ ที่เบนเข็มช้าเกินไปในการต่อยอาชีพ
ข้อสังเกตของนักวิจารณ์มวย คือ ไทยมีโอกาสสร้างนักกีฬาได้อย่างซู ชิ หมิง ในเส้นทางมวยสากลอาชีพ แต่สมาคมมวยสากลสมัครเล่นต้องร่วมมือกับค่ายมวย และบรรดาโปรโมเตอร์ แต่ปัญหาที่ตามมาคือเรื่องของผลประโยชน์ และข้อตกลงในการแบ่งรายได้