นศ.แพทย์มข.สำรวจผลกระทบ P4P พบไม่มี P4P แพทย์จะอยู่ต่อรพ.ชุมชนอีก 10 ปี
นศ.แพทย์ ม.ขอนแก่นสำรวจ P4P กับการตัดสินใจทำงานในรพ.ชุมชนของแพทย์พบเกือบ 90%ไม่เห็นด้วย และหากมีการใช้ P4P ต่อ จะทำให้แพทย์เลือกตัดสินใจทำงานต่อในรพ.ชุมชน 2 ปี โดยจะลาออก ไปเรียนต่อ และย้ายเข้าทำงานในเมือง แต่หากไม่ใช้นโยบายนี้จะตัดสินใจทำงานต่ออีก 10 ปี ชี้ P4P ทำให้ชนบทขาดแคลนแพทย์มากกว่าเดิมจากปัจจุบันที่มีแพทย์ทำงานในชนบท 17% เท่านั้น
ผศ.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการสำรวจเรื่อง อิทธิพลของนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานต่อการตัดสินใจปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนของแพทย์ ซึ่งทำการสำรวจโดยการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ เมื่อวันที่ 22-25 เม.ย.56 กับกลุ่มตัวอย่างแพทย์ชนบทในโรงพยาบาลชุมชน(รพ.ชุมชน) สังกัดกระทรวงสธ. 250 คน จาก 50 โรงพยาบาล เพื่อศึกษาอิทธิพลของนโยบาย P4P ต่อการตัดสินใจปฏิบัติงานต่อในรพ.ชุมชนของแพทย์ และเพื่อให้ทราบผลการตัดสินใจของแพทย์ภายหลังจากใช้นโยบาย P4P
ผศ.นพ.ปัตพงษ์ กล่าวต่อว่า ผลการสำรวจพบว่า แพทย์ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 89.5 ไม่เห็นด้วยกับการนำนโยบาย P4P มาใช้ในรพ.ชุมชน เหตุผลคือ 1.ไม่มีเวลาจดแต้มและเสียเวลาทำข้อมูลเพิ่ม และกังวลต่อการจดแต้มซึ่งทำให้เวลาดูแลผู้ป่วยลดลง 2.ไม่มีรูปแบบที่เป็นรูปธรรมและยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าดีจริง 3.แพทย์ไม่เกื้อกูลกัน ความสัมพันธ์แพทย์แพทย์ แพทย์กับผู้ป่วยเปลี่ยนไป ขณะเดียวกันยังพบว่า นโยบาย P4P มีผลต่อการเลือกสถานที่ปฏิบัติงาน ร้อยละ 46.4 หากไม่ใช้นโยบาย P4P จะทำให้แพทย์เลือกตัดสินใจปฏิบัติงานต่อในโรงพยาบาลชุมชนเป็นเวลา 10 ปี ในขณะที่หากใช้นโยบาย P4P จะทำให้แพทย์เลือกตัดสินใจปฏิบัติงานต่อในโรงพยาบาลชุมชนเป็นเวลา 2 ปี โดยผู้ที่ตอบว่านโยบาย P4P มีผลทำให้ระยะเวลาในการปฏิบัติงานในรพ.ชุมชนลดลงนั้น เลือกลาออกจากราชการมากที่สุด คือ ร้อยละ 32.6 รองลงมาเลือกไปเรียนต่อ ร้อยละ 31.4 และย้ายเข้าทำงานในเมืองร้อยละ 26.7
“จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ.2553 ประเทศไทยมีแพทย์ 22,019 คน ในจำนวนนี้เป็นแพทย์ที่ให้บริการในสถานพยาบาลชนบท 3,919 คน หรือร้อยละ 17.8 ของแพทย์ทั้งหมด ซึ่งดูแลประชากรร้อยละ 54 ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นถึงการกระจายตัวที่ไม่เหมาะสมระหว่างแพทย์ในเมืองกับชนบท และหากมีการใช้นโยบาย P4P ต่อ ก็จะทำให้การกระจายตัวนี้มีความไม่สมดุลมากขึ้น และทำให้ชนบทขาดแคลนแพทย์มากกว่าเดิม หลายรัฐบาลที่ผ่านมาใช้เงินไปมากกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาทเพื่อผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ถ้านโยบาย P4P มีผลทำให้แพทย์ไหลออกจากชนบท ก็นับว่าการลงทุนจำนวนมหาศาลที่ผ่านมาไร้ผลโดยสิ้นเชิง” ผศ.นพ.ปัตพงษ์ กล่าว