ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"คลั่ง" จนคุกคาม เปิดพฤติกรรม "ซาแซง" ตัวการทำร้ายศิลปิน

สังคม
18 ม.ค. 68
15:00
7
Logo Thai PBS
"คลั่ง" จนคุกคาม เปิดพฤติกรรม "ซาแซง" ตัวการทำร้ายศิลปิน
"ซาแซงแฟน" แฟนคลับที่มีพฤติกรรมล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของศิลปิน ปัญหาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในวงการบันเทิงทั้งไทยและทั่วโลก ทำให้ศิลปินต้องเผชิญกับความเครียด ถูกคุกคามทั้งทางร่างกาย จิตใจ การปรับตัวของแฟนคลับ-ศิลปินเป็นสิ่งสำคัญในการรักษา "ความปลอดภัย"

หลังนักร้องชื่อดัง "แสตมป์ อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข" ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องราวที่ตนเองและครอบครัวถูกบุคคลบางกลุ่มคุกคามอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโลกโซเชียล โดยหลายคนเชื่อมโยงเหตุการณ์นี้เข้ากับพฤติกรรมของ "ซาแซงแฟน" หรือแฟนคลับที่คลั่งไคล้ศิลปินจนถึงขั้นรุกล้ำความเป็นส่วนตัว

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับแสตมป์ ทำให้สังคมตระหนักถึงปัญหาการคุกคามศิลปินที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และนำไปสู่การตั้งคำถามถึงมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาซาแซงในวงการบันเทิงไทย

อ่านข่าว : กองทัพบกรับตรวจสอบปม "แสตมป์-ภรรยา​" ระบุถูกนายพลข่มขู่

รู้ไหมว่า ฉันคิดมากขนาดไหน

"ซาแซงแฟน" (사생팬) เป็นคำศัพท์เฉพาะที่ใช้ในวงการบันเทิงเกาหลีใต้ โดยมีรากศัพท์มาจากคำว่า "ซาแซงฮวาล" (사생활) แปลว่า ชีวิตส่วนตัว หรือ ความเป็นส่วนตัว และ "แฟน" (팬) ที่หมายถึงผู้สนับสนุนหรือติดตามศิลปิน

เมื่อรวมกันแล้ว คำว่า "ซาแซงแฟน" หมายถึง แฟนคลับที่มีพฤติกรรมล่วงล้ำชีวิตส่วนตัวของศิลปินหรือบุคคลที่ตนชื่นชอบ

ซาแซงแฟนแตกต่างจากแฟนคลับทั่วไปตรงที่ พวกเขามุ่งเน้นไปที่การติดตามและล้วงลึกเรื่องราวส่วนตัวของศิลปิน โดยใช้วิธีการที่ผิดจริยธรรมและมักเป็นการบุกรุก เช่น การแอบติดตามศิลปินในสถานที่ส่วนตัว การล้วงข้อมูลส่วนตัว เช่น ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ หรือ เที่ยวบินการเดินทาง รวมไปจนถึง การซื้อขายข้อมูลของศิลปินในตลาดมืด

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ซาแซงแฟน หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "ซาแซง" ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ แต่เริ่มปรากฏชัดเจนในช่วงปี 1990s เมื่อกระแส "ฮันรยู" (Hallyu Wave) หรือการส่งออกวัฒนธรรมเกาหลีเริ่มเติบโต โดยเฉพาะในยุคที่บอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปได้รับความนิยม เช่น H.O.T และ S.E.S ในช่วงนั้นการติดตามศิลปินยังเป็นไปในลักษณะการเฝ้าตามสถานที่จัดงานหรือบ้านพัก

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียพัฒนา ซาแซงก็มีวิธีการที่ซับซ้อนและล้ำเส้นมากขึ้น เช่น การใช้เทคโนโลยี GPS ในการติดตาม การเจาะระบบเพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว หรือการแฮ็กบัญชีออนไลน์ของศิลปิน

สัตว์ประหลาดกำลังจะออกมา

การหาสถิติที่ชัดเจนและแม่นยำเกี่ยวกับจำนวนซาแซงและความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องยากมาก ส่วนหนึ่งมาจากการเก็บข้อมูลที่ไม่ครอบคลุม เพราะพฤติกรรมของซาแซงมักเกิดขึ้นแบบส่วนตัวและหลบซ่อน หลายเหตุการณ์อาจไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ หรือศิลปินเองอาจไม่ต้องการให้เรื่องราวถูกเผยแพร่ อย่างไรก็ตาม จากหลาย ๆ ข้อมูลส่วนใหญ่ พบว่าประเทศที่มีปัญหาซาแซงรุนแรง ได้แก่

  • เกาหลีใต้ เพราะอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้มีขนาดใหญ่และได้รับความนิยมทั่วโลก ทำให้เกิดแฟนคลับจำนวนมาก และในจำนวนนั้นก็มีซาแซงปะปนอยู่ด้วย
  • ญี่ปุ่น ก็มีปัญหาซาแซงเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการไอดอล
  • จีน แม้ว่าจะเพิ่งมีอุตสาหกรรมบันเทิงที่เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ปัญหาซาแซงก็เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้น

ข้อมูลจาก Koreaboo และ Soompi ระบุว่าปัจจัยที่ทำให้เกาหลีใต้มีซาแซงจำนวนมาก มาจาก วัฒนธรรมไอดอลเกาหลีที่เน้นความใกล้ชิดระหว่างศิลปินกับแฟนคลับ ทำให้แฟนคลับรู้สึกผูกพันและต้องการเข้าใกล้ศิลปินมากขึ้น แต่บางครั้งความต้องการนี้ก็อาจนำไปสู่พฤติกรรมที่เกินเลย หรือ การแข่งขันสูงในวงการบันเทิง ที่ทำให้แฟนคลับรู้สึกว่าต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ศิลปินที่ตนชื่นชอบได้รับความสนใจแม้กระทั่ง สื่อมวลชนก็อาจมีส่วนในการสร้างกระแสข่าวเกี่ยวกับซาแซง ทำให้พฤติกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจและเลียนแบบ

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

มีการรายงานว่าร้อยละ 10 ของแฟนคลับที่ติดตามศิลปินเกาหลีใต้จัดอยู่ในกลุ่ม "ซาแซง" ที่มีพฤติกรรมคุกคามศิลปิน ข้อมูลที่เผยแพร่ในปี 2564 พบว่า ซาแซงเกาหลีใต้บางกลุ่มยอมใช้เงินมากถึง 1,000 ล้านวอน หรือ ประมาณ 26 ล้านบาท/ปี เพื่อซื้อตั๋วเครื่องบิน การเดินทาง และสินค้าส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับศิลปิน

ฉันชอบใครเขาก็ไม่ชอบฉัน

Kwak Keum-joo อาจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล แนะนำว่า ศิลปินควรมีความเด็ดขาดและกำหนดแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน ไม่ควรรับของขวัญหรือความรักจากแฟนคลับที่ล้ำเส้นมากเกินไป การมีเสียงจากศิลปินที่ชัดเจนอาจช่วยลดการละเมิดนี้ได้ แม้ว่าจะทำให้แฟนคลับบางคนรู้สึกไม่พอใจก็ตาม

และการดำเนินคดีทางกฎหมายก็ไม่ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด ความผิดฐานสะกดรอยตาม ซึ่งเป็นความผิดที่พบบ่อยที่สุดที่ซาแซงก่อขึ้น ถือเป็นความผิดเล็กน้อยมากในเกาหลีใต้ มีโทษปรับเพียง 100,000 วอน หรือประมาณ 2,500 บาท

การทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมและการจัดการกับซาแซงแฟนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถมากกว่า ที่จะช่วยลดปัญหานี้และสร้างความปลอดภัยให้กับศิลปินในระยะยาว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

จะให้เธอจนกว่าเธอจะรับ บอกรักเธอจนกว่าเธอนั้นจะยอม

พฤติกรรมของซาแซงที่พวกเขาเชื่อกันว่าคือการแสดงออกถึงความรักในตัวศิลปิน แต่กลับก่อให้เกิดความเสียหายทั้งทางร่างกายและจิตใจแก่ศิลปินรวมไปจนถึงคนรอบข้าง สมาชิกครอบครัวได้หลากหลายรูปแบบ

  • การทำร้ายร่างกาย ซาแซงบางรายอาจทำร้ายร่างกายศิลปินโดยตรง เช่น การตบตี การผลักดัน หรือการขโมยของส่วนตัว
  • การบุกรุกความเป็นส่วนตัว แอบเข้าไปในบ้านของศิลปิน การติดตามศิลปินไปยังที่ต่าง ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต
  • การคุกคามทางออนไลน์ เช่นการโพสต์ข้อความหมิ่นประมาท การคุกคามทางเพศ หรือการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของศิลปิน
  • การคุกคามทางจิตวิทยา: การส่งจดหมายข่มขู่ การโทรศัพท์รบกวน หรือการตามติดศิลปินอย่างใกล้ชิด
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

จากคน ๆ เดิม คนที่คุณก็รู้ว่าใคร

ปัญหาซาแซงเป็นเรื่องที่สร้างความเดือดร้อนให้กับศิลปินทั่วโลกมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวงการ K-Pop หรือแม้แต่ศิลปินต่างชาติก็หนีไม่พ้นปัญหาเหล่านี้ พฤติกรรมของซาแซงนั้นสร้างความเสียหายทั้งทางร่างกายและจิตใจให้กับศิลปินเป็นอย่างมาก และยังส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของคนรอบข้างอีกด้วย

  • แทยอน วง Girls’ Generation เธอเคยถูกซาแซงพยายามลากตัวลงจากเวทีในงานแฟนมีตติ้ง ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่แฟนคลับและทีมงาน
  • จองกุก วง BTS มีรายงานว่าซาแซงแอบซื้อตั๋วเครื่องบินชั้นธุรกิจเพื่ออยู่ใกล้เขาในระหว่างเที่ยวบิน,
  • ชานยอล วง EXO มีซาแซงบุกเข้าไปในห้องพักโรงแรมและถ่ายภาพเขาขณะกำลังนอนหลับ จากนั้นนำภาพมาเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต
  • แจ็คสัน หวัง วง GOT7 เคยประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ในปี 2559 เนื่องมาจากแท็กซี่ที่มีซาแซงขับตาม

หรือในวงการศิลปินฟากฝั่งตะวันตกก็ไม่วายถูกคุกคามไปด้วย เช่น 

  • Taylor Swift เคยถูกแฟนคลับที่เป็นซาแซงบุกรุกบ้านพักในนิวยอร์กหลายครั้ง
  • Ariana Grande แฟนคลับบางคนส่งของขวัญที่มีความน่ากลัว เช่น ถุงมือที่เปื้อนเลือด
  • Justin Bieber เคยมีแฟนคลับพยายามปีนเข้าบ้านพักของเขา
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ด้วยพฤติกรรมของซาแซงเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อในหลาย ๆ ด้าน ทั้งผลกระทบต่อศิลปิน จะเกิดความเครียด ความวิตกกังวลจากการขาดความเป็นส่วนตัวเพราะถูกคุกคาม ทำให้สุขภาพจิตเสื่อมโทรม เป็นโรคซึมเศร้าหรือ PTSD ได้ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อแฟนคลับทั่วไป ทำให้ภาพลักษณ์ของแฟนคลับโดยรวมเสียหาย เกิดความขัดแย้งในหมู่แฟนคลับ

อะไรเป็นของเธอ ก็กลายเป็นอะไรของฉัน 

การชื่นชอบศิลปิน ติดตามผลงานและสนับสนุนพวกเขาเป็นสิ่งที่ดีและช่วยสร้างกำลังใจให้ศิลปินได้อย่างมาก แต่บางครั้ง ความหลงใหลที่มากเกินไปอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ "ล้ำเส้น" ความเหมาะสมโดยไม่รู้ตัว และอาจทำให้ศิลปินรู้สึกอึดอัดหรือไม่มีความปลอดภัย ลองเช็กพฤติกรรมของตัวเองก่อนจะล้ำเส้นศิลปิน

เช็กพฤติกรรมเข้าข่ายซาแซง ?

1.ติดตามศิลปินตลอดเวลา
หากคุณพยายามติดตามศิลปินในทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน สถานที่ส่วนตัว หรือแม้กระทั่งบ้านพัก คุณอาจล้ำเส้นเกินไป ตัวอย่างเช่น ไปเฝ้ารอหน้าบ้านหรือหอพักของศิลปินโดยไม่มีเหตุผล, ขับรถตามศิลปินเป็นระยะทางไกล หรือแม้กระทั่งซื้อตั๋วเที่ยวบินเดียวกับศิลปินเพียงเพื่อจะได้อยู่ใกล้

2.การขโมยข้อมูลส่วนตัว
คุณเคยพยายามหาข้อมูลส่วนตัวของศิลปิน เช่น เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ หรือรายละเอียดการเดินทางหรือไม่ ? การซื้อขายหรือแชร์ข้อมูลเหล่านี้ในโซเชียลมีเดียก็ถือว่าเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว เช่น ค้นหาและบันทึกเบอร์โทรศัพท์ของศิลปิน, ซื้อตั๋วคอนเสิร์ตหรือกิจกรรมโดยการใช้ข้อมูลวงใน, แชร์ข้อมูลส่วนตัวของศิลปินผ่านกลุ่มแฟนคลับ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นการละเมิดสิทธิ์ที่อาจนำไปสู่คดีความทางกฎหมาย

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

3.บุกรุกพื้นที่ส่วนตัว
คุณเคยพยายามเข้าไปยังพื้นที่ที่ศิลปินควรมีความเป็นส่วนตัวหรือไม่ ? แอบเข้าไปในบ้านหรือห้องพักโรงแรมของศิลปิน, ส่งของขวัญที่มีลักษณะผิดปกติ เช่น ของใช้ส่วนตัวที่เก็บจากขยะ หรือจดหมายที่มีข้อความข่มขู่, ติดตั้งกล้องวงจรปิดหรืออุปกรณ์ดักฟังใกล้พื้นที่ส่วนตัวของศิลปิน จนศิลปินบางคน อาจถึงขั้นต้องย้ายบ้านหรือเพิ่มการรักษาความปลอดภัย พฤติกรรมดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นการล้ำเส้น แต่ยังอาจถูกมองว่าเป็นการคุกคามที่ผิดกฎหมาย

4.การแสดงออกทางโซเชียลมีเดีย
คุณเคยใช้โซเชียลมีเดียเพื่อโพสต์ข้อมูลส่วนตัวของศิลปินหรือสร้างข่าวลือเกี่ยวกับพวกเขาหรือไม่ ? โพสต์หมายเลขโทรศัพท์หรือที่อยู่ของศิลปินในกลุ่มสาธารณะ สร้างข่าวลือที่ทำให้ศิลปินเสื่อมเสียชื่อเสียง ใส่ร้าย บิดเบือนข้อเท็จจริง, ส่งข้อความที่มีเนื้อหาเชิงข่มขู่หรือคุกคามผ่านโซเชียลมีเดีย

คนที่คอยห่วงดูแลระยะไกล ... ก็พอ

หากคุณพบว่าตัวเองมีพฤติกรรมที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่ระบุข้างต้น นี่อาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังก้าวข้ามเส้นของการเป็นแฟนคลับที่ดีไปเป็นการล่วงล้ำชีวิตส่วนตัวของศิลปิน

ลองทบทวนและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ความเคารพต่อพื้นที่ส่วนตัวของศิลปิน เปลี่ยนความรักที่มีต่อศิลปินให้เป็นการสนับสนุนในทางที่เหมาะสม เช่น การติดตามผลงานหรือซื้อสินค้าถูกลิขสิทธิ์ หลีกเลี่ยงการมีส่วนร่วมในกลุ่มหรือกิจกรรมที่ล่วงล้ำชีวิตส่วนตัวของศิลปิน

การเป็นแฟนคลับที่ดีไม่เพียงแค่แสดงความรักต่อศิลปิน แต่ยังหมายถึงการเคารพในความเป็นส่วนตัวของพวกเขาด้วย คุณสามารถสนับสนุนศิลปินได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องล้ำเส้น และการทำเช่นนี้จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อทั้งศิลปินและแฟนคลับคนอื่น ๆ 

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

อ่านข่าวอื่น :

ใครบ้าง ? รายชื่อแขก-เรื่องน่ารู้ พิธีสาบานตนของ "โดนัลด์ ทรัมป์"

“ทักษิณ” หาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ. ชี้นครพนมต้องเปลี่ยน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง