อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่าน
ผลงานของ ปพลพัฒน์ เพชรศิริธำรงค์ และ ณัชณิชา วรานุจิตต์ ที่ประยุกต์ใช้วิธีค่อยๆจกแล้วดึงยางเส้นหลากสีสอดขึ้นมาบนแผงเพชรทีละช่องจนเต็ม กลายเป็นกระเป๋าจากยางรัดผมสีสันสดใส เข้ากับสร้อยคอลูกโป่งที่ใช้เทคนิคการสอดและดึงให้แน่น จากเทคนิคการจกพรมเช็ดเท้าที่ได้เรียนรู้จากชาวชุมชนอำเภอเชียงรากน้อย จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีอาชีพหลักคือการทำพรมเช็ดเท้า มาต่อยอดและออกแบบจนกลายเป็นชุดแฟชั่นสุดเก๋
ความยากไม่เพียงต้องออกแบบให้มีความสวยงามและแตกต่าง แต่การหาวัสดุที่สามารถใช้เป็นพื้นและรองรับวิธีการจกได้ด้วย ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงเป็นอีกโจทย์ท้าทายที่ต้องแสดงความสามารถด้านการออกแบบพร้อมกับต่อยอดองค์ความรู้จากหัตถกรรมชุมชนสู่ผลิตภัณฑ์แฟชั่นใหม่ๆ ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋าและรองเท้า ผลงานต้นแบบที่เสร็จสมบูรณ์แล้วของนักศึกษาภาควิชาออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ชั้นปีที่ 3 นำมาแสดงในนิทรรศการศิลปกรรมเพื่อชุมชน อยู่ดี มีสุข
3 ปีแล้วที่นักศึกษากลุ่มนี้ ทำงานร่วมกับชุมชนในอำเภอเชียงรากน้อย โดยให้ชาวบ้านที่มีความรู้ด้านหัตถกรรมท้องถิ่น มาให้ความรู้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 เพื่อต่อยอดความคิด พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และยังร่วมมือกับคณะบริหารธุรกิจ ที่จะนำผลงานของนักศึกษามาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการพัฒนาให้กลายเป็นสินค้าที่สามารถวางขายได้ ก่อนนำแบบและวิธีการส่งกลับไปให้คนในชุมชน
เมื่อนำองค์ความรู้เดิม มาพัฒนาต่อยอดเพื่อให้ได้สินค้าตามความต้องการของตลาด ซึ่งนักศึกษาได้เรียนรู้ แต่สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ เป็นความสุขของชุมชน นี่จึงเป็นที่มาของนิทรรศการศิลปกรรมเพื่อชุมชน “อยู่ดี มีสุข” จัดแสดงผลงานของนักศึกษาตลอด 3 ปี ที่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เปิดมุมมองใหม่ๆในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อชุมชน จัดแสดงไปจนถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2556ที่หอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต