วางมาตรการรับมือ นปช.ชุมนุมรำลึกเหตุสลายการชุมนุม 19 พ.ค.นี้
คดีนี้พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้อง ให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิต ผู้เสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม 6 คนซึ่งพยานวันนี้ (17 พ.ค.) มี 3 ปาก เป็นตำรวจจากกองพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ตำรวจจากกองสรรพาวุธ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจอาวุธปืน และเจ้าหน้าที่สำนักตรวจการที่เกิดเหตุ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ก่อนที่ศาลจะทำคำสั่งแสดงว่าผู้เสียชีวิตเป็นใคร และชี้ถึงเหตุและพฤติการณ์ที่เสียชีวิต
พยานเบิกความว่า อาวุธที่ทำให้ทั้ง 6 คนเสียชีวิต คือ ปืนเอ็ม 16 ซึ่งจะมีใช้ในราชการทหารหรือตำรวจเท่านั้น ประชาชนทั่วไปไม่สามารถขออนุญาตครอบครองได้ และตั้งต่อไปศาลนัดไต่สวนพยาน 2 ปาก คือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. และผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจเขม่าดินปืน สถาบันนิติวิทยาศาสตร์
ขณะที่ วันที่ 19 พฤษภาคมนี้ มีการยืนยันจากกลุ่ม นปช.แล้วว่าจะมีการนัดชุมนุมรำลึกเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์อีก โดยมีการยืนยันจากนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่จะสไกป์มายังเวทีของกลุ่ม นปช. ในการชุมนุมครบรอบ 3 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์ ว่าน่าจะเป็นการพูดถึงสถานการณ์การเมืองใน 5-6 ปีที่ผ่านมา ความไม่เป็นประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม และสุดท้ายจะพูดถึงทางออกของประเทศ
ด้านกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าย่านราชประสงค์ เข้าพบ พล.ต.ต.ปริญญา จันทร์สุริยา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กรณีการจัดงานรำลึก 3 ปี ในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ โดยระบุว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีการนัดชุมนุมไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไฟไหม้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจแบบ SME กว่า 300-500 ราย ยังไม่ได้รับการเยียวยา
รวมถึงขอความเห็นใจจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดูแลความเรียบร้อยในการชุมนุม โดยเฉพาะเรื่องการจราจร การดื่มสุรา การทิ้งขยะ โดย พล.ต.ต.ปริญญา ระบุว่า ที่ผ่านมาการดูแลความเรียบร้อยการชุมนุม ยังมีรูปแบบที่ไม่ชัดเจน เช่น การตั้งเวทีข้ามคืนนั้น โดยในครั้งนี้จะทำไม่ได้ โดยตำรวจได้จัดกำลัง 5 กองร้อยในการดูแลจราจร โดยห้ามปิดแยกทั้ง 4 ด้านอย่างเด็ดขาด รวมถึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ จัดแผงกั้นเพื่อให้ผู้ชุมนุมอยู่ในกรอบพื้นที่ที่จัดไว้ให้ แต่หากจำเป็นและมีผู้ชุมนุมจำนวนมาก ก็อาจจะมีการเจรจาต่อไป