ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “สังคมไทยคิดอย่างไรกับเพศที่ 3 ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15 – 16 พฤษภาคม 2556 จากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,252 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษา ทุกอาชีพ เกี่ยวกับการยอมรับเพศที่ 3 ในสังคมไทย โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน ร้อยละ 1.4
จากผลการสำรวจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 88.49 สามารถยอมรับได้หากมีเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานในองค์กรเป็นเพศที่ 3 เพราะไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ขอแค่เป็นคนดี บางคนเก่ง และมีความรู้ความสามารถ สังคมไทยเปิดกว้างและยอมรับมากขึ้น รองลงมา ร้อยละ 8.79 ที่ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะเป็นการฝืนธรรมชาติ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กร และร้อยละ 2.72 ไม่แน่ใจ เมื่อถามว่าหากมีสมาชิกหรือคนในครอบครัว เป็นเพศที่ 3 จะยอมรับได้เหรอไม่ ประชาชน ร้อยละ 77.56 ยอมรับได้ เพราะคนเราไม่สามารถเลือกเกิดได้ ในเมื่อเกิดมาแล้วต้องทำใจยอมรับ เพศไม่ได้บ่งบอกว่าใครเป็นคนดีหรือไม่ดี ขอแค่เป็นคนดี รองลงมา ร้อยละ 17.25 ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะผิดกฎธรรมชาติ ต้องการผู้สืบทอดสกุล และมีพฤติกรรมบางอย่างที่สะดุดตาผู้คนทำให้ทำใจยอมรับไม่ได้ และ ร้อยละ 5.19 ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงว่าควรอนุญาตให้เพศที่ 3 สามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้หรือไม่ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 43.53 ระบุไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นสิ่งที่ระบุเพศและสถานภาพการสมรส อาจทำให้เกิดความสับสนและวุ่นวายในสังคม โดยเฉพาะการติดต่อกับทางหน่วยงานต่างๆ ถ้าจะเปลี่ยนควรเปลี่ยนคำนำหน้าที่บ่งบอกว่าเป็นเพศที่ 3 ที่ไม่ใช่นาย นาง นางสาว ร้อยละ 42.01 เห็นด้วย เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล สังคมมีการเปิดกว้างมากขึ้น และเมื่อถามว่าเห็นด้วยกับการอนุญาตให้เพศที่ 3สามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้ ร้อยละ 92.97 ระบุว่า สาวประเภทสองที่แปลงเพศแล้วสามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้ รองลงมา ร้อยละ 81.75 เป็นทอมที่แปลงเพศแล้ว ร้อยละ 25.48 เป็นสาวประเภทสองที่ยังไม่แปลงเพศ และร้อยละ 25.29 ทอมที่ยังไม่แปลงเพศ
ท้ายสุดเมื่อถามถึงการออกกฎหมายยอมรับการจดทะเบียนคู่ชีวิต (สมรส) ของบุคคลเพศเดียวกัน พบว่า ร้อยละ 52.96 เห็นด้วย เพราะจะได้เป็นสิ่งยืนยันถึงสิทธิต่างๆ จะได้สมหวังทั้งสองฝ่าย และต่างประเทศเปิดโอกาสในเรื่องนี้มาก รองลงมา ร้อยละ 33.87 ไม่เห็นด้วย เพราะอาจจะมีปัญหาตามมาภายหลัง และการจดทะเบียนไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงความรักเสมอไป บางคนสามารถอยู่ด้วยกันได้โดยที่ไม่ต้องจดทะเบียน และร้อยละ 13.18 ไม่แน่ใจ
ทั้งนี้รองศาสตราจารย์ ดร.จุรี วิจิตรวาทการ อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ และประธานศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับผลการสำรวจในครั้งนี้เพิ่มเติมว่า “ในอดีตมิได้มีการกีดกันหรือดูถูกเพศที่ 3 แต่อย่างใด แต่จะไม่ยอมรับหากมีบทบาทในสังคมมากขึ้น และจากผลการสำรวจ สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เมื่อเปรียบเทียบกับอดีตเรื่องของการยอมรับของเพศที่3 ทั้งนี้การยอมรับในเรื่องที่ไกลตัวถือว่าเป็นเรื่องปกติที่จะยอมรับได้มากกว่าเรื่องที่ใกล้ตัว ซึ่งจะเห็นได้จากผลสำรวจในเรื่องของการที่มีเพศที่ 3 เป็นสมาชิกในครอบครัว สัดส่วนของผู้ที่สามารถยอมรับได้ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ส่วนเรื่องของการเปลี่ยนคำนำหน้านามหรือการจดทะเบียนสมรสของบุคคลเพศที่ 3 ได้มีการเรียกร้องสิทธิตรงนี้มาหลายครั้งแล้ว ถือว่าเป็นมิติใหม่และเปิดมุมมองให้เข้าใจถึงความต้องการในสิทธิเสรีภาพและสิทธิส่วนบุคคลของกลุ่มนี้มากขึ้น ซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดีในการกำหนดนโยบายเชิงขับเคลื่อนของสิทธิ เสรีภาพ ความเป็นธรรม เพราะกลุ่มเพศที่ 3 ซึ่งมีข้อจำกัดของสิทธิหรือเกิดแรงกดดันทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วยสภาพทางร่างกายและคำนำหน้าที่ไม่ตรงกัน อาทิเช่น การทำหนังสือเดินทาง เป็นต้น เพราะในต่างประเทศก็มีกฎหมายรองรับในการเปลี่ยนคำนำหน้านามให้สอดคล้องกับสภาพทางร่างกายที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะผู้ที่แปลงเพศแล้ว แต่สำหรับการจดทะเบียนสมรสกับเพศเดียวกัน ส่วนตัวเห็นว่าอาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ และต้องใช้ระยะเวลา เพราะถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงกระทันหันอาจจะเกิดการต่อต้านได้ ฉะนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้กำหนดนโยบายจะหันมาให้ความสนใจในการขับเคลื่อนเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของกลุ่มเพศที่ 3 ที่จะได้รับในสังคมระบอบประชาธิปไตย ตามข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ ที่ระบุว่า “ทุกคนมีสิทธิเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเพศใด ”