ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เมื่อการออกกฏหมายไม่ใช่คำตอบและทางออก "วิกฤตการเมือง 53"

การเมือง
17 พ.ค. 56
14:23
122
Logo Thai PBS
 เมื่อการออกกฏหมายไม่ใช่คำตอบและทางออก "วิกฤตการเมือง 53"

เหตุวิกฤตการเมืองปี 2553 ที่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป.ชี้ว่า เกิดจากความขัดแย้งในสังคมการเมืองไทย ขณะนักวิชาการอิสระ มองว่า เงื่อนไขสำคัญที่จะช่วยคลี่คลาย คือ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ไม่ใช่การออกกฎหมายยกเว้นความผิด เพื่อความปรองดอง สอดคล้องกับอดีตนายกรัฐมนตรี ที่แสดงความพร้อมจะต่อสู้ข้อกล่าวหา

แผนขอคืนพื้นที่บริเวณแยกคอกวัว และแผนกระชับพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ ระหว่างการชุมนุมทางการเมือง เมื่อปี 2553 ถูกครหาว่า เป็นที่มาของการสูญเสียชีวิต และทรัพย์สิน ไม่เพียงแค่ผู้ชุมนุม แต่ยังหมายถึงเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน

 
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และในฐานะอดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ว่าร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล
 
โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ อ้างอิงคำตัดสินของศาลฏีกา คดีการเสียชีวิตของเด็กชายคุณากร ศรีสุวรรณ, นายพัน คำกอง และการบาดเจ็บของนายสมร ไหมทอง เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธข้อกล่าวหา และย้ำที่จะต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม แทนการหวังผลที่จะรับประโยชน์จากกฎหมาย ยกเว้นความผิด เพราะมั่นใจว่า ข้อกล่าวหาเกิดจากเจตนาของการกลั่นแกล้ง หลังการเมืองเปลี่ยนขั้วอำนาจ

    

 
สอดคล้องกับความเห็นของศ.วันชัย วัฒนศัพท์ ที่ชี้ว่า การออกกฎหมายยกเว้นความผิด ไม่ว่าจะปรองดองหรือนิรโทษกรรม ไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหาหรือสร้างความปรองดอง ซึ่งแม้รัฐจะใช้อำนาจและเสียงข้างมากผลักดันให้เป็นรูปธรรมได้ก็ตาม
 
ศ.วันชัย กล่าวย้ำถึงการสร้างความปรองดองว่า ต้องอาศัยกระบวนการที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการแสวงหาทางออก และกำหนดอนาคตประเทศ ในรูปฉันทามติ ที่ยึดโยงกับบทเรียนในอดีต พร้อมกับการอำนวยความยุติ ที่มีมาตรฐาน จะนำไปสู่ความปรองดองได้มากกว่ากัน
 
หลังเหตุการณ์ผ่านพ้นมาเกือบ 3 ปี การตรวจสอบและค้นหาความจริง รวมถึงการหาทางออกจากเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตการเมือง ซึ่งมีที่มาจากความเห็นต่าง และความขัดแย้งของสังคมการเมือง ภายในคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป.
 
แม้ข้อเสนอบางข้อจะได้รับการตอบรับจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่บ้านเมืองกลับยังไม่เริ่มต้นนำสถานการณ์ไปสู่ความปรองดอง โดยเฉพาะข้อสังเกตจากการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ที่อาจมีนัยยะแอบแฝงเอื้อประโยชน์ให้บุคคลและกลุ่มบุคคล อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งรอบใหม่
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง