สัญญาณ..ความร้อนแรงของ
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) ชี้ ความร้อนแรงของสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ขยายตัวที่ร้อยละ 20 ยังคงน่ากังวล แม้ตัวชี้ด้านบริโภคอื่นๆ ชะลอตัวลง
การคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ในการประชุมนี่ 29 พฤษภาคมนี้ ถือว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งที่คาดให้ถูกต้องได้ยาก เพราะตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆที่ออกมาในไตรมาสแรก ให้สัญญาณแบบก้ำกึ่งว่าจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายหรือไม่ รวมถึงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ร้อยละ 5.3 ในไตรมาสแรก ที่ถือว่ายังเป็นอัตราที่อยู่ในระดับศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ถึงแม้แรงขับเคลื่อนของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะอ่อนลงกว่าที่หลายๆฝ่ายคาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ดี คงไม่สามารถละเลยประเด็นความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจ ที่การประชุม กนง. ในหลายๆครั้งที่ผ่านมาได้แสดงความกังวลเอาไว้ โดยเฉพาะ ในมุมของการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ที่ยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง
สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลในไตรมาสแรกเติบโตร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งแม้ขนาดการ เติบโตดังกล่าวจะชะลอลงจากไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้วที่เติบโตถึงร้อยละ 22 แต่ก็ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยสถิติช่วงสามปีก่อนหน้าที่อยู่ในช่วงร้อยละ 14-15
โดยหากพิจารณาส่วนประกอบหลักๆของสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ได้แก่ สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีสัดส่วนร้อยละ 45 สินเชื่อเช่าซื้อรถสัดส่วนร้อยละ 29 และ สินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ (อาทิ บัตรเครดิต สินเชื่อเงินสด) สัดส่วนร้อยละ 24 พบว่า อัตราการเติบโตของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยไม่ได้มีความผิดปกติ โดยยังอยู่ราวๆค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 13-14
สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อรถก็ไม่ได้เติบโตสูงเกินไปกว่าข้อมูลในอดีตที่เคยเติบโตในระดับร้อยละ 30 มาแล้ว แต่จุดน่าสนใจอยู่ที่สินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ ที่อัตราการเติบโตเริ่มทะยานมาตั้งแต่ปี 2554 และ หากลงไปลึกถึงส่วนประกอบของสินเชื่อนี้ พบว่าสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ หรือ ที่เรียกกันติดปากว่า "สินเชื่อเงินสด" นั้น กลับเติบโตในอัตราเร่งขึ้นไปอีก คือ ร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 2555 โดยเป็นอัตราที่มากกว่าการเติบโตเมื่อปี 2554 และ 2555 ที่ร้อยละ 16 และ 19 ตามลำดับ ซึ่งสินเชื่อดังกล่าวเป็นสินเชื่อที่เอาไปกินไปใช้ล้วนๆ และ เป็นสัญญาณเสี่ยงของหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อเปรียบเทียบการเติบโตของสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเห็นได้ว่า การเติบโตของสินเชื่อสามารถรักษาระดับอัตราการเติบโตที่ประมาณร้อยละ 14-16 ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับร้อยละ 3 หรือ สูงกว่าเล็กน้อย เพราะฉะนั้น หากผลการประชุม กนง. ในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ ตัดสินใจใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต้องลดลงตามไปด้วย ผลที่ตามมาก็คือ จะเพิ่มความโน้มเอียงในการบริโภคมากกว่าการออม จากผลตอบแทนทางการออมที่ไม่จูงใจพอ ซึ่งอาจส่งผลให้สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวต่อไป
ดังนั้น ในภาวะเศรษฐกิจดังเช่นปัจจุบัน การเติบโตของสินเชื่อที่เร่งตัวในระดับกว่าร้อยละ 20 ในช่วงสองไตรมาสที่ผ่านมา จึงยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องให้น้ำหนักและดูแลต่อไป ไม่ว่าจะผ่านการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือการใช้มาตรการเสริมอื่นๆ (prudential measures) ควบคู่ไปกับการลดดอกเบี้ย เพื่อสกัดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาในภายหลัง