จ.เชียงราย ซ้อมแผนรับมือสถานการณ์วิกฤต
การระดมกำลังเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ที่ถูกกระแสน้ำป่า และดินโคลน พัดไปติดอยู่ตามเกาะแก่งต่างๆ เป็นหนึ่งในการซักซ้อมแผน เพื่อรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติ ที่ศูนย์เตือนพิบัติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร หรือ ไอซีที ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเชียงราย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดขึ้นบริเวณบ้านบาหรา ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย หนึ่งในพื้นที่เสี่ยงภัย ที่เพิ่มประสบเหตุน้ำป่า เมื่อ 5 ปีก่อน (2551) ทำให้บ้านเรือนพังเสียหายหลายหลัง และ มีคนเสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก
โดยพื้นที่จังหวัดเชียงราย มีชุมชนที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม กว่า 800 หมู่บ้าน ด้วยสภาพพื้นที่ ที่เป็นภูเขาสูง อยู่ห่างไกล และ ชุมชนปลูกสร้างบ้านเรือนริมลำห้วย ทำให้ระบบเตือนภัยล่วงหน้าเป็นสิ่งจำเป็นในการเตรียมรับมือภัยพิบัติ รวมทั้งระบบสื่อสาร ที่ต้องสามารถแจ้งเตือนเหตุผ่านศูนย์ระดับตำบล อำเภอ และจังหวัดรวดเร็ว และ มีประสิทธิภาพ
สำนักป้องกันภัยธรรมชาติและความเสี่ยงภัยทางการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน ระบุว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยง น้ำป่าไหลหลาก และ ดินถล่ม 52 จังหวัด ครอบคลุมเนื้อที่กว่า 5,700,000 ไร่ โดยพื้นที่ ที่มีความเสี่ยง สูงที่สุด คือ ภาคเหนือ รวม 15 จังหวัด รองลงมา คือ ภาคใต้ รวม 14 จังหวัด จึงแนะนำให้ชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยง ควรหมั่นสังเกตสภาพอากาศ หากฝนตกหนักต่อเนื่องเกิน 100 มิลลิเมตรต่อวัน หรือปริมาณน้ำฝนสะสม 3 วัน มากกว่า 300 มิลลิเมตร ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ หรือ อพยพออกนอกพื้นที่ทันที และมีประสิทธิภาพ