ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ยุบโรงเรียน ช่วยนักเรียนไทยได้จริงหรือ? หลักฐานเชิงประจักษ์จาก PISA

สังคม
27 พ.ค. 56
09:49
263
Logo Thai PBS
ยุบโรงเรียน  ช่วยนักเรียนไทยได้จริงหรือ?  หลักฐานเชิงประจักษ์จาก PISA

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPURC) เปิดเผยผลการวิจัยล่าสุดเรื่อง ยุบโรงเรียน ช่วยนักเรียนไทยได้จริงหรือ?

 หลักฐานเชิงประจักษ์จาก PISA   การศึกษาครั้งนี้  เป็นการใช้ข้อมูลการสอบ PISA (Programme for International Student Assessment)  ของนักเรียนไทยอายุ 15 ปี  ที่ทำการสอบในปี 2552  จำนวน 4,396 คน  เพื่อวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ทางสถิติระหว่างขนาดของโรงเรียนกับผลการสอบ PISA  ด้านการอ่าน

 
ในการสอบ PISA ผู้เข้าสอบทุกคนจะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับฐานะสังคม  และเศรษฐกิจของครอบครัว  เช่น  รายได้  การศึกษา  และอาชีพของพ่อแม่   ทรัพย์สินที่ถือครอง ตลอดจนถึงทัศนคติที่มีต่อการเรียน ครูผู้สอน และโรงเรียน เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ผู้ทำการทดสอบยังเก็บข้อมูลเชิงกายภาพเกี่ยวกับโรงเรียนที่นักเรียนคนนั้นอยู่ เช่น จำนวนอาคาร จำนวนครูผู้สอน  และอุปกรณ์การเรียนการสอนต่างๆ 
 
 แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่นำมาใช้คือ  ฟังก์ชันการผลิตทางการศึกษา ที่ระบุว่า ปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ จิตวิทยา และความพร้อมทางกายภาพของโรงเรียน คือ ปัจจัยการผลิต การเรียนการสอนในโรงเรียน คือ  กระบวนการแปรรูปปัจจัยการผลิตเหล่านี้ให้กลายเป็น ความรู้ ซึ่งสามารถวัดได้ด้วยคะแนนสอบ

ด้วยเหตุนี้  ถ้าโรงเรียนสองโรงเรียนมีการเรียนการสอนเหมือนกันโดยสมบูรณ์ มีความพร้อมเชิงกายภาพเท่ากัน  นักเรียนที่มีภูมิหลังด้านสังคม เศรษฐกิจ และทัศนคติ ที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเรียนโรงเรียนไหน ถ้าวัดด้วยข้อสอบชุดเดียวกัน ควรได้คะแนนเท่ากัน หรือถ้าแตกต่างกันบ้างก็เพียงเล็กน้อย  

ดังนั้น  หากโรงเรียนมีขนาดที่แตกต่างกัน  ในขณะที่ปัจจัยอื่นๆ ยังเหมือนเดิม แล้วพบว่านักเรียนมีคะแนนสอบแตกต่างกัน  แสดงว่า สิ่งที่ทำให้นักเรียนสองคนได้คะแนนแตกต่างกัน คือ ขนาดของโรงเรียน  

 
ผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการยุบรวมโรงเรียนมี 3 ประเด็น  ดังนี้
 
ประเด็นที่ 1 ขนาดของโรงเรียนมีผลต่อคะแนน  โดยเฉลี่ยแล้ว  นักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่กว่า  สามารถทำคะแนนสอบได้มากกว่าโรงเรียนขนาดเล็ก  จึงอาจกล่าวได้ว่า  การยุบรวมโรงเรียนจะช่วยให้นักเรียนย้ายมาจากโรงเรียนขนาดเล็กที่ถูกยุบรวมมีผลการสอบที่ดีขึ้น  ผลการศึกษายังพบด้วยว่า  ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการยุบรวมมากที่สุด คือ  นักเรียนที่เรียนหนังสือไม่เก่งในชนบท
 
ประเด็นที่ 2  การยุบรวมโรงเรียนเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะช่วยให้นักเรียนมีผลสอบที่ดีขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ  ข้อมูลในตารางเป็นการสรุปผลของปัจจัยต่างๆ  ที่ส่งผลต่อคะแนนสอบของนักเรียน โดยแบ่งเป็นนักเรียนในเมืองและในชนบท  ซึ่งจะเห็นได้ว่า  ขนาดของโรงเรียนจะมีผลต่อคะแนนสอบประมาณร้อยละ 1 ถึง 2 สำหรับนักเรียนในเมือง  และร้อยละ 1 ถึง 4 สำหรับนักเรียนในชนบท  

อย่างไรก็ตาม  ปัจจัยอื่นๆ  ก็มีผลให้คะแนนเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน  เช่น  ทรัพยากรทางการศึกษาที่บ้าน ทัศนคติเกี่ยวกับโรงเรียน  ทัศนคติเกี่ยวกับการอ่านหนังสือ  และรูปแบบการเรียนที่เหมาะสมกับตนเอง  นั่นหมายความว่า  การยุบรวมโรงเรียนเพียงอย่างเดียวอาจไม่ช่วยให้คะแนนสอบของนักเรียนเพิ่มขึ้นมากนัก  ถ้าไม่มีมาตรการเสริมในด้านอื่นๆ  เช่น  การยกระดับความเป็นอยู่ของครอบครัว  การปรับเปลี่ยนทัศนคติของนักเรียน  การช่วยเหลือให้นักเรียนสามารถค้นหารูปแบบการเรียนที่เหมาะสมกับตนเอง  เป็นต้น

 ที่น่าสังเกตก็คือ  การมีคอมพิวเตอร์ (ซึ่งอาจจะตีความรวมถึงการมีแท็บเล็ต) ที่บ้าน   ไม่ได้ส่งผลให้นักเรียนมีผลการสอบที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 

 
ปัจจัยพื้นฐาน เมือง ชนบท
ฐานะทางเศรษฐกิจ 3.2% ไม่มีผล
ทรัพยากรด้านการศึกษาที่บ้าน 2.3% 1.6%
คอมพิวเตอร์ (หรือแท็บเล็ต) ไม่มีผล ไม่มีผล
ทัศนคติเกี่ยวกับโรงเรียน ไม่มีผล 2.9%
ทัศนคติเกี่ยวกับการอ่านหนังสือ 2.1% ไม่มีผล
วิธีการเรียนที่เหมาะสมกับตนเอง 0.3-2.3% 1.2-2.2%
ขนาดของโรงเรียน 1-2% 1-4%
 
ประเด็นที่ 3  การทุ่มงบประมาณไปกับโครงสร้างพื้นฐานในโรงเรียนเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะช่วยให้นักเรียนในชนบทได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพดีขึ้น  รูปที่นำเสนอ  เป็นวิเคราะห์ว่าปัจจัยพื้นฐาน  เช่น  ฐานะของครอบครัว  การมีอุปกรณ์การเรียนการสอน  คอมพิวเตอร์  จำนวนครูในโรงเรียน เป็นต้น  จะสามารถอธิบายความแตกต่างของผลการสอบของนักเรียนในเมืองและในชนบทได้ในระดับใด  โดยแบ่งตามระดับคะแนนจากกลุ่มคะแนนต่ำสุด (p10) จนถึงกลุ่มคะแนนสูงสุด (p90)  
 
สำหรับนักเรียนที่มีคะแนนสอบต่ำ  ปัจจัยพื้นฐานมีผลต่อความแตกต่างของคะแนนมากกว่าปัจจัยเชิงคุณภาพ (การบริการจัดการโรงเรียน แนวทางการสอน  วัฒนธรรมในโรงเรียน  การมีส่วนร่วมของชุมชนในการกำหนดหลักสูตร  เป็นต้น)  หมายความว่า  การจะลดความแตกต่างของคะแนนระหว่างนักเรียนในเมืองที่เรียนไม่เก่งกับนักเรียนในชนบทที่เรียนไม่เก่ง  จะสามารถทำได้ด้วยการเพิ่มปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้  เช่น  การเพิ่มจำนวนครู  อุปกรณ์การเรียนการสอน  เป็นต้น
 
สำหรับนักเรียนระดับปานกลางจนถึงเก่ง  คุณภาพการศึกษา  มีบทบาทมากขึ้นในการลดความไม่เท่าเทียมกันของคะแนนสอบระหว่างนักเรียนในเมืองและในชนบท  ด้วยเหตุนี้  การเพิ่มงบประมาณให้กับโรงเรียนเพื่อนำไปใช้ในการซื้ออุปกรณ์การเรียนการเรียนการสอน  เพิ่มจำนวนครู  ตลอดจนถึงการสร้างอาคารสถานที่  จึงมีความสำคัญน้อยกว่า  การพัฒนาในเชิงคุณภาพ  ซึ่งข้อสรุปในส่วนนี้สอดคล้องกับงานวิจัยในเรื่องคุณภาพการศึกษาในต่างประเทศ
 
 โดยสรุป  การยุบรวมโรงเรียนเพียงอย่างเดียว  อาจจะได้ผลในด้านของการประหยัดงบประมาณ  แต่จะไม่ได้ผลในด้านการยกระดับคุณภาพการศึกษามากเท่าที่ควร  นอกเสียจากว่า  จะมีการดำเนินนโยบายด้านอื่นควบคู่ไปด้วย ทั้งในด้านการยกระดับความเป็นอยู่ของครอบครัว  การปรับเปลี่ยนทัศนคติของนักเรียน  การหารูปแบบการเรียนที่เหมาะสมกับตัวผู้เรียน  และการปรับรูปแบบการสอนของครูให้มีความยืดหยุ่นพอ  ตลอดจนถึงการปรับปรุงปัจจัยเชิงคุณภาพ  ไม่ว่าจะเป็นการบริการจัดการโรงเรียน แนวทางการสอน  วัฒนธรรมในโรงเรียน  การมีส่วนร่วมของชุมชนในการกำหนดหลักสูตร  ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ถูกละเลยในกระบวนการปฏิรูปการศึกษาของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง