ภายหลังธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตถึง รายงานภาวะเศรษฐกิจ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.โดยเฉพาะตัวเลขการบริโภคและการลงทุนเอกชน ซึ่งอาจขัดแย้งกับข้อเท็จจริง และกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งต่ำกว่าประมาณการณ์ของแบงก์ชาติ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสศช. กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นการบริโภคของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายขึ้นค่าจ้าง และรับจำนำสินค้าเกษตร ไม่ใช่ตัวแปรที่จะอธิบายการจับจ่ายในประเทศ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ในไตรมาสแรกได้ครบทุกมิติเพราะยังมีประเด็นการจ้างงานและการบริการ นอกระบบ ซึ่งแบงก์ชาติ อาจไม่นำไปพิจารณา ส่วนราคารับจำนำ เป็นเพียงราคารับประกันรายได้ ไม่ใช่ราคาขายในท้องตลาด ที่ผ่านมาราคาสินค้าเกษตรลดลง กระทบต่อรายได้เกษตรกร และการจับจ่ายสินค้า
เช่นเดียวกับการลงทุนของภาคเอกชนซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากโครงการรถยนต์คันแรก ในไตรมาสที่แล้ว แต่เริ่มชะลอตัวลง เพราะค่ายรถยนต์ส่งมอบไปแล้วกว่า 530,000 คัน จากยอดจองสิทธิ์ 1,200,000 คัน
แต่ส่วนสำคัญคือการส่งออกซึ่งได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท ทำให้เศรษฐกิจไตรมาสแรก ขยายตัวต่ำกว่าคาด พร้อมย้ำว่า สศช. จัดทำรายงานตัวเลขเศรษฐกิจ ตามมาตรฐานสากล และการชี้แจงวันนี้ไม่ใช่การตอบโต้แบงก์ชาติ แต่เป็นไปตามหลักวิชาการ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเรียกพบ สศช. และกระทรวงการคลัง เพื่อสอบถามปัญหาดังกล่าว โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตำหนิ สศช. และแบงก์ชาติ ว่า ไม่ควรตอบโต้กันเองจึงสั่งให้รายงานตัวเลขเศรษฐกิจในวันพรุ่งนี้ (28 พ.ค.) ก่อนย้ำว่ากนง.ควรลดดอกเบี้ยมากกว่าร้อยละ 0.25 จากปัจจุบันร้อยละ 2.75 ตามที่นักการเงิน และธนาคารหลายสำนัก คาดการณ์ว่าจะมีการลดดอกเบี้ยลง