รณรงค์งานงดสูบบุหรี่โลก เน้นสื่อให้เห็น บุหรี่ เท่ากับ ยาเสพติด
คำยืนยันจากอดีตผู้เคยติดยาเสพติดคนหนึ่ง ซึ่งมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่บันทึกไว้ ยืนยันได้ว่า การสูบบุหรี่เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การติดยาเสพติด และแม้จะเลิกยาเสพติดได้แล้ว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายหากจะเลิกบุหรี่ แม้สังคมจะรับรู้ว่าผู้สูบบุหรี่ และผู้ที่ได้รับควันมือสอง มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น ถุงลมโป่งพอง, มะเร็งปอด, โรคหัวใจ และหลอดเลือด ดังนั้นความรุนแรงของพิษภัยบุหรี่ จึงไม่ต่างจากยาเสพติดให้โทษ
ขณะที่การจัดอันดับความรุนแรงสิ่งเสพติดให้โทษ 10 ชนิด ตามรายงานของศูนย์อาชญากรรมและยุติธรรมศึกษา สหราชอาณาจักร พบว่า เฮโรอีน มาเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนบุหรี่ ถูกจัดอยู่อันดับ 9 ซึ่งมีความรุนแรงใกล้เคียงกับยาบ้า แต่ต่างกันตรงที่ บุหรี่จำหน่ายได้ถูกต้องกฎหมาย
ที่ร้ายไปกว่านั้น คือสารนิโคตินในบุหรี่ ยังมีฤทธิ์เสพติดรุนแรงมากกว่าสารเสพติดประเภทอื่น ซึ่ง ผศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระบุว่า สามารถแพร่ไปยังสมองได้ภายใน 7 วินาทีต่อการสูดควันเข้าร่างกาย 1 ครั้ง สอดรับกับการวิจัยผลกระทบที่สมองได้รับจากสารนิโคติน ของสหรัฐอเมริกาที่ ช่วยเปรียบเทียบความผิดปกติของสมอง จากการสูดควันบุหรี่แต่ละครั้ง โดยเนื้อสมองปกติจะค่อยๆ เปลี่ยนจากสีเหลือง เป็นสีน้ำเงิน เนื่องจากสารนิโคติน จะเข้าไปกระตุ้นให้หลั่งสารสื่อประสาท หรือ โดปามีน ทำให้เกิดอารมณ์แห่งความสุข เมื่อหยุดสูบ จึงเกิดความต้องการทั้งร่างกาย และจิตใจ จนไม่สามารถหยุดสูบได้
ผลกระทบด้านสุขภาพ ทำให้การรณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ของไทยในปีนี้ จึงชูประเด็น "บุหรี่ เท่ากับ ยาเสพติด" เพื่อให้สังคมตระหนักถึงพิษภัย ยกระดับมาตรการ บทลงโทษทางกฎหมายที่เข้มข้นขึ้น และสร้างค่านิยมใหม่ว่า ธุรกิจยาสูบ เทียบเท่า ขบวนการยาเสพติด
แม้ปัจจุบัน ไทยจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบ ถึง 3 ฉบับ แต่การบังคับใช้ยังไม่จริงจัง ขณะที่โทษอาญาสูงสุดคือปรับและจำคุก แตกต่างกับยาเสพติดให้โทษ ที่โทษถึงประหารชีวิต ทั้งๆ ที่พิษภัยของบุหรี่เทียบเท่ายาเสพติดในทุกระดับ ดังนั้นทุกภาคส่วนที่ร่วมรณรงค์งดสูบบุหรี่ จึงอยากเห็นการจัดระเบียบควบคุมการสูบบุหรี่ที่เข้มงวด จนนำไปสู่การห้ามครอบครอง ห้ามเสพยาสูบในอนาคต