ล่าสุดมีการศึกษาของหน่วยงานราชการ ในจังหวัดว่า มีพื้นที่เสี่ยง ถูกลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรม กว่า 100 แห่ง รวมถึงมีชาวบ้านแจ้งข้อมูลกับ ภาคประชาชนชนในจังหวัดชลบุรี ถึงการลักลอบทิ้งในหลายพื้นที่ ซึ่งไทยพีบีเอสลงพื้นที่ตรวจสอบกับภาคประชาชน พบพื้นที่หนึ่งในอำเภอ บ้านบึง อาจมีสารโลหะหนัก ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งถูกทิ้งปนอยู่กับขยะบ้าน
เส้นทางตำบลบ้านหนองอิรุณ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เป็นจุดแรก ที่ทีมข่าวไทยพีบีเอสเดินทางไป ตามที่มีการร้องเรียนว่า พบการลักลอบนำขยะอุตสาหกรรมมาทิ้ง
การเข้าพื้นที่ค่อนข้างลำบาก เพราะเป็นพื้นที่เอกชน และมีป้อมคนงานคอยตรวจอยู่ด้านหน้า เมื่อเข้าไปด้านในพบว่า ด้านนอกติดถนน พื้นที่นี้เป็นไร่อ้อย แต่ขณะที่ด้านในกลายเป็นที่ทิ้งขยะบนเนื้อที่เกือบ 50 ไร่
ตัวแทนภาคประชาชนที่ศึกษาเรื่องขยะอุตสาหกรรม ที่ร่วมเข้ามาตรวจสอบกับทีมข่าวยืนยันว่า ผงสีเหลืองเขียว ที่ปนอยู่กับขยะ เป็นชิ้นส่วนอะไหล่แผงวงจรอิเลคทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า PCB มีสารโลหะหนัก ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เหมือนที่เจอในพื้นที่ตำบลมาบไผ่ และที่มั่นใจคือพบกล่องบรรจุชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ของบริษัทแห่งหนึ่ง อยู่ใกล้กัน
แต่ระหว่างการตรวจสอบบริเวณภาพภายในรถมีรถจักรยานยนต์ของคนงานที่อยู่ด้านหน้าทางเข้า ขับตามเข้ามา ทำให้ทีมข่าวไม่สามารถลงไปพิสูจน์ได้ว่า ลักษณะผงสีเหลืองเขียวบดนั้นเป็น PCB หรือไม่
แต่จากสภาพ ถนนอีกด้านของกองขยะที่เชื่อว่าเป็นขยะอุตสาหกรรม เราพบหญ้าบริเวณนั้นแห้งตายทั้งหมด ขณะที่บริเวณใกล้กันเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและมีแหล่งน้ำธรรมชาติไหลผ่าน
การตรวจสอบเส้นทางน้ำตามพิกัดทำให้ทราบว่าแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไหนผ่านกองขยะ ชื่อคลองลำพาง เป็นคลองสาขา ที่จะไหลไปบรรจบที่คลองใหญ่ เข้าสู่อำเภอพนัสนิคม อำเภอพานทอง ไหลผ่านชุมชนต่างๆ ก่อนลงสู่แม่น้ำบางปะกง
เมื่อกลับมาหา ข้อมูลประกอบของสาร PCB จากเว็บไซต์กรมโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้พบว่าหากไม่ได้ใช้ประโยชน์ PCBเป็นขยะอิเลคทรอนิกส์ที่ต้องผ่านกระบวนการกำจัดอย่างถูกต้อง (และถูกจัดอยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย
แม้ยังไม่มีหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบว่าขยะเหล่านี้จะส่งผลเสียให้กับชาวบ้านมากน้อยขนาดไหน ซึ่งไทยพีบีเอสอยู่ระหว่างประสานกรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบข้อเท็จจริงและหากการตรวจสอบออกมาว่าขยะที่พบเป็นขยะอุตสาหกรรมที่นำมาลักลอบทิ้งไว้จริง ถือเป็นอันดับ 2 ที่มีความร้ายแรงรองจากตำบลมาบไผ่ ที่ถูกตรวจสอบพบก่อนหน้านี้
และในวันพรุ่งนี้ (4 พ.ค.) ทีมข่าวไทยพีบีเอสจะเดินทางไปที่อำเภอพนัสนิคม และอำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ที่มีการร้องเรียนพบการทิ้งขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบร้านรับซื้อของเก่าที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน