ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เครือข่ายคนทำหนังร่วมล้ม"พ.ร.บ.ภาพยนตร์"

Logo Thai PBS
เครือข่ายคนทำหนังร่วมล้ม"พ.ร.บ.ภาพยนตร์"

หลังใช้พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 มาครบ 5 ปี หวังให้ผู้สร้างภาพยนตร์มีเสรีภาพมากขึ้น แต่กลับเป็นว่ามีภาพยนตร์ไทยถูกแบนและโดนตัดทอนแม้จะได้ฉายในเรตสูงสุด ทำให้วันนี้คนวงการภาพยนตร์รวมตัวกันเพื่อเดินหน้าล้มกฎหมายฉบับปัจจุบัน

 "อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล" กล่าวว่า”คุณไม่มีสิทธิ์ที่จะปิดหนังผมไม่ให้คนอื่นได้ดู ได้ตัดสิน นี่คือสิ่งที่เรากำลังจะสู้” นี่คือ หนึ่งเสียงจากหัวอกคนทำหนังโดนเซ็นเซอร์  "อภิชาติพงศ์"ที่มาร่วมแสดงจุดยืนในงานเสวนา ‘สิทธิหนังไทย: ฐานะสื่อและการกำกับดูแล’ ร่วมกับผู้กำกับภาพยนตร์ที่ได้รับผลกระทบจากการแบน นักวิชาการด้านภาพยนตร์ ตัวแทนสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งประเทศไทย และนักกฎหมาย เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่ทำให้หนังไทย 2 เรื่องถูกแบนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

นายอภิชาติพงศ์ ยังกล่าวว่า "อย่างแรกเลยต้องปฏิรูป อย่างที่ 2 ในระยะยาวคือควรล้ม อยากให้รัฐสนับสนุนการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่เป็นอิสระจากภาครัฐ หลายประเทศก็ทำอย่างนั้น มีแต่ประเทศด้อยพัฒนาที่ทำอย่างที่เราทำ"

สอดคล้องกับ นายปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนตร์ ที่กล่าวว่า "ปัญหามาจากคนละมุมมอง รัฐยังอยากปกครองอยู่ เรามองว่าต้องมีประชาธิปไตย มีสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร ประชาชนต้องรู้จักตีความ ถ้าทำผิดกฎหมาย ก็ฟ้องได้อยู่แล้ว"

แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 45 จะรับรองเสรีภาพสื่อโดยให้เผยแพร่ได้โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณา หากปัจจุบันภาพยนตร์ถือเป็นสื่อประเภทเดียวที่ยังต้องส่งให้ภาครัฐตรวจสอบก่อนออกฉาย เพราะถูกระบุไว้ให้เป็นวัสดุ ที่สามารถตรวจสอบได้ ตามพ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 การนิยามความหมายของภาพยนตร์ใหม่จึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อที่จะทำให้หนังมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมสื่ออื่น

ด้านนายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ระบุว่า "การรวมตัววันนี้เพื่อบอกว่า พรบ หนัง มีปัญหา คนไทยถ้าไม่มีอะไรเกี่ยวกับผลประโยชน์ตัวเองจริงๆ ก็จะไม่สนใจ วันนี้ต้องการให้ผู้คนเห็นค่าของหนังว่าไม่ใช่แค่วัสดุ เป็นสื่อที่แสดงออกถึงความคิดเห็นของคนในชาติ ก็คือสื่อ ควรปฏิบัติกับภาพยนตร์เหมือนสื่อมวลชนทั่วไป"

ขณะที้ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ นักกฎหมายเว็บไซต์ ไอลอว์ เผยว่า "วันนี้หนังอาจยังไม่ได้เสรีภาพเต็มที แต่ต่อไปสังคมจะยอมรับการสื่อสารผ่านภาพยนตร์มากขึ้น และระบบราชการต่างๆ ที่มีปัญหาก็จะค่อยๆ ถูกตั้งคำถามมากขึ้น และถูกปรับปรุง ใช้เวลาพอสมควร"

ไม่มีตัวแทนจากภาครัฐร่วมรับฟังในงานนี้ ซึ่งกลุ่ม Free Thai Cinema เตรียมถกถึงปัญหานี้กับกระทรวงวัฒนธรรม และจะรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นแก้ไข พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 อย่างน้อยที่สุดเพื่อผ่องถ่ายอำนาจการตรวจพิจารณาภาพยนตร์จากภาครัฐ มาอยู่ในมือขององค์กรอิสระซึ่งจะมาจากคนในวงการภาพยนตร์และตัวแทนภาคประชาชน เพื่อให้คนทำหนังมีโอกาสสร้างสรรค์งานได้อย่างอิสระมากขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง