แนะรัฐใช้ความรอบคอบจัดโครงสร้าง
โดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
คณะวิจัยจาก IISD และ ทีดีอาร์ไอ ได้นำเสนอภาพรวมความเข้าใจต่อการอุดหนุนพลังงานโดยระบุว่า ประเทศไทยมีการใช้พลังงานค่อนข้างสูง โดยมีการนำไปใช้ในภาคครัวเรือน ขนส่ง อุตสาหกรรม และการผลิตไฟฟ้า สำหรับโครงสร้างราคาพลังงานนั้น จากจุดเริ่มต้นที่ราคาหน้าโรงกลั่น ภาคปิโตรเคมีจ่ายเพิ่มเพียงภาษีมูลค่าเพิ่ม 1.63% ขณะที่ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม มีภาระต้องที่ต้องจ่ายเพิ่มคือภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล เงินสมทบเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าการตลาด ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการอุดหนุนราคาพลังงานหลายตัวทั้งแอลพีจี เอ็นจีวี ดีเซล ค่าไฟฟ้า และเอทานอล จึงทำให้ราคาขายปลีกในแต่ละภาคการใช้งานมีความแตกต่างกัน และยากที่จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะจะกระทบกับผู้มีรายได้น้อย
ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อุยธยา ที่ปรึกษาฝ่ายการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า การออกแบบโครงสร้างภาษีและเงินอุดหนุนพลังงานต้องมีเป้าหมายในการออกแบบ 3 เรื่องคือ 1.ลดการนำเข้าพลังงานให้น้อยลง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องพึ่งพาหรือผูกติดกับความผันผวนในตลาดโลก 2.หลีกเลี่ยงหรือลดการใช้พลังงานฟอสซิลฟิวด์ซึ่งเป็นพลังงานที่ไม่สามารถทดแทน ไปเป็นพลังงานหมุนเวียนหรือชีวมวล เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3.โครงสร้างราคาหรือการสนับสนุนผู้มีรายได้น้อย เช่น การใช้ไฟฟ้าฟรีสำหรับบ้านที่ใช้ไฟไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน
ในส่วนของเป้าในการลดความผันผวนจากราคาน้ำมันในตลาดโลกนั้นจากการลดการนำเข้าน้ำมันแล้วผลิตน้ำมันเอง แล้วจะส่งผลให้เราปลอดจากปัญหาราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวนนั้นมองว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะราคาน้ำมันภายในประเทศจะผันผวนตามราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วหากราคาพลังงานในตลาดโลกแพงขึ้น
แต่เป้าหมายที่สำคัญคือการหลีกเลี่ยงการใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และหันมาสนับสนุนพลังงานจากชีวภาพ หรือชีวมวล ซึ่งอาจมีข้อจำกัด เพราะในส่วนของธุรกิจน้ำมันที่มีการดำเนินการอยู่แล้ว นักธุรกิจอาจจะอยากทำการค้ากับน้ำมันตัวเดิม เนื่องจากมีฐานธุรกิจเดิมอยู่แล้ว
ขณะเดียวกันมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เช่น การยกเว้นค่าไฟฟ้าและน้ำประปาให้กับผู้ที่ใช้ไม่เกินจากที่รัฐบาลกำหนดไว้นั้นถือเป็นแนวคิดที่ดีและควรทำต่อไป แต่ก็จำเป็นต้องหามาตรการที่ดีเพื่อเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง
ดร.อดิศร์ แนะนำว่า สำหรับการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยรัฐบาลอาจจะออกนโยบายที่จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่แท้จริงผ่านการกรอกแบบฟอร์มภาษี ซึ่งทำได้ทั้งน้ำมัน ค่าไฟ และเรื่องอื่น ๆ ก็ให้การช่วยเหลือได้โดยทำให้อยู่ในแบบฟอร์มภาษีกระทรวงการคลัง
เรื่องของเงินอุดหนุนพลังงานเป็นเรื่องที่ล่อแหลม ในทางเศรษฐกิจอาจจะนำไปสู่ความบิดเบือนเพราะจะจูงใจให้คนใช้พลังงานตัวนั้นเยอะขึ้น และมีปัญหาในเชิงธุรกิจแอบแฝง ซึ่งในหลายประเทศนั้นการกำหนดนโยบายสาธารณะนั้นจะไม่อยากเห็นเงินอุดหนุนเท่าไรนัก เพราะเมื่อมีการอุดหนุนก็เหมือนกับเป็นการกระตุ้นพลังงานตัวนั้น ทำให้มีการนำเข้าและผลิตมากขึ้น นอกจากนี้ก็จะข้อครหาได้หากคนในภาครัฐเข้าไปมีส่วนในธุรกิจพลังงานนั้นด้วย ก็เป็นเหมือนการให้เงินช่วยเหลือพวกพ้องในการทำธุรกิจ นอกจากนี้การให้เงินอุดหนุนอาจเป็นหนึ่งในนโยบายประชานิยมเพื่อเอาใจคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทำให้การให้เงินอุดหนุนพลังงานต้องเป็นนโยบายที่ต้องดำเนินไปด้วยความระมัดระวัง
ด้านนางสาวทารา ลานน์ (Ms. Tara Laan) จากสถาบันนานาชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (International Institute for Sustainable Development หรือ IISD) กล่าวว่า การอุดหนุนราคาพลังงานนั้น ทางภาครัฐได้มองประเด็นนี้มานานแล้ว แต่มีกระบวนการที่ค่อนข้างยาก และไม่มีสูตรสำเร็จที่ใช้ได้กับทุกประเทศ ต้องยอมรับว่าในต่างประเทศที่เขาประสบความสำเร็จแล้วนั้นต้องผ่านอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการต่อต้านของภาคประชาชน เพราะฉะนั้นหากภาครัฐต้องการดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างพลังงาน จะต้องมีมาตรการเยียวยาและปกป้องผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งหากจะเปรียบเทียบประเทศไทยกับต่างประเทศนั้นค่อนข้างยากเพราะแต่ละประเทศมีบริบทที่แตกต่างกัน
แต่จากการรวบรวมของ IISD พบว่า ในประเทศไทยยังมีสัดส่วนในการสนับสนุนเงินอุดหนุนพลังงานติดอันดับ 20 ประเทศที่มีการสนับสนุนค่อนข้างสูง การแก้ปัญหาพลังงานนั้นนอกจากลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานให้น้อยลง เพิ่มการใช้เพลังงานทางเลือกที่ผลิตได้เองมากขึ้น และเพื่อให้ได้ผลควรทำไปพร้อมกับการออกแบบระบบภาษีให้มีประสิทธิภาพและการอุดหนุนราคาพลังงานเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น
ส่วนที่สำคัญคือการสร้างความตระหนัก สร้างความเข้าใจของประชาชนต่อการอุดหนุนพลังงาน ซึ่งก็ถือเป็นจุดประสงค์ที่ทางเราได้ผลิตหนังสือ “A Citizens’ Guide to Fossil-Fuel Subsidy Reform“ ซึ่งเป็นเรื่องของการอุดหนุนพลังงาน โดยหวังว่าจะนำไปสู่การปฏิรูปในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง