ธุรกิจข้าวในเมียนมาร์ ... ปัจจัยดึงดูดหลากหลายอีกหนึ่งโอกาสเพื่อต่อยอดธุรกิจข้าวไทย
ธุรกิจข้าวในเมียนมาร์มีปัจจัยดึงดูดหลากหลาย ทำให้นานาชาติต่างจับตามองเมียนมาร์ในฐานะเป็นแหล่งการค้าการลงทุนในธุรกิจข้าวและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่น่าสนใจในขณะนี้
เมื่อประกอบกับนโยบายข้าวของเมียนมาร์กับการตั้งเป้าหมายสู่การเป็นผู้ส่งออกหลักของโลก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากความพยายามในการเร่งพัฒนาการผลิตข้าวสู่ระบบที่เป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้น คงจะทำให้ปริมาณการส่งออกข้าวของเมียนมาร์น่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ทางการเมียนมาร์กำหนดไว้ที่ 2 ล้านตันในปี 2556 และ 3 ล้านตันในปี 2558 โดยไม่ยากมากนัก และคาดว่าในอนาคต เมียนมาร์อาจก้าวขึ้นมามีบทบาทติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศผู้ส่งออกข้าวหลักในโลก ทัดเทียมกับอินเดีย เวียดนาม และไทย ด้วยปริมาณการส่งออกข้าวไม่น้อยกว่า 5 ล้านตัน ในอีก 10 ปี
ทั้งนี้ การขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ของผู้ประกอบการในธุรกิจข้าวไทย โดยอาจเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสายการผลิตข้าว เช่น การลงทุนโรงสีในเมียนมาร์นับว่ามีลู่ทางที่พอเป็นไปได้ โดยใช้เมียนมาร์เป็นฐานการส่งออกข้าว และอีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจคือ ผู้ค้าข้าว รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ขณะที่การหาพันธมิตร/คู่ค้าท้องถิ่นร่วมลงทุนจะยังเป็นรูปแบบที่เหมาะสม ณ ขณะนี้ นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ในระยะสั้น ความท้าทายของผู้ประกอบการไทยยังมีอยู่มาก
ทั้งประเด็นกระบวนการทางกฎหมาย อาทิ ขั้นตอนการจัดตั้งโรงสีในเมียนมาร์ค่อนข้างยุ่งยาก ความไม่พร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่ในอนาคตหากปัจจัยพื้นฐานต่างๆเหล่านี้พัฒนาไปมากขึ้น พร้อมๆกับการเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติของเมียนมาร์เพื่อประโยชน์ของเมียนมาร์ การพิจารณาแนวทางขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภาวะที่ปัจจุบันธุรกิจข้าวไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ประกอบกับความผันผวนของค่าเงินบาท ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อม
อีกด้านหนึ่ง แม้การขยายการลงทุนในธุรกิจข้าวเมียนมาร์จะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย แต่ในระยะยาว แนวโน้มที่ประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงเมียนมาร์กำลังพัฒนาศักยภาพการผลิตข้าวให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ปัจจัยดังกล่าว อาจทำให้ไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจข้าวไทยในเวทีโลก ดังนั้น การดำเนินนโยบาย/การวางยุทธศาสตร์ร่วมกัน เพื่อปกป้องธุรกิจข้าวในประเทศอย่างยั่งยืน จึงควรต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมาต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสายการผลิตอย่างรอบด้าน ในภาวะที่หลายประเทศต่างมีนโยบายเพื่อปกป้องธุรกิจข้าวภายในประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ธุรกิจข้าวไทยสามารถรักษาบทบาทในตลาดโลกได้ท่ามกลางคู่แข่งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น