สพฐ.ชูทิศทางพัฒนาการศึกษาในอนาคต เน้น
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือสพฐ.เชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา หารือทิศทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในอนาคต โดยนักวิจัยโครงการปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ บอกว่า ปัญหาของระบบการศึกษาไทยไม่ได้อยู่ที่การขาดแคลนทรัพยากร แต่อยู่ที่ประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร
ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา งบประมาณกระทรวงศึกษาธิการเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ซึ่งมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ขณะที่รายได้ของครูเพิ่มขึ้นจากประมาณ 15,000 บาทในปี 2544 เป็นกว่า 25,000 บาทในปี 2553 แต่ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนที่มีแนวโน้มต่ำลงในการประเมินทุกระดับ
งานวิจัยของทีดีอาร์ไอ พบว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากการขาดความรับผิดชอบของครู หรือโรงเรียนที่ไม่สามารถแก้ปัญหาด้านคุณภาพได้ จึงเสนอให้ปฏิรูปหลักสูตร และการออกข้อสอบที่เน้นคิดวิเคราะห์มากขึ้น รวมทั้งต้องพัฒนาครูที่สอนได้หลากหลาย และให้การประเมินวิทยฐานะครู หลังจากนี้ต้องขึ้นอยู่กับผลสัมฤทธิ์การเรียนเด็กอย่างแท้จริง เพื่อให้ครูและโรงเรียนมีความรับผิดชอบต่อผลสัมฤทธิ์ที่ตกต่ำมากขึ้น นอกจากนี้ต้องเพิ่มตัวชี้วัดในการประเมินคุณภาพสถานศึกษาที่เหมาะสม รวมถึงปฏิรูประบบการเงินเพื่อลดรวามเหลื่อมล้ำ
โดยความคิดเห็น ข้อเสนอในครั้งนี้ สพฐ.จะนำไปกำหนดทิศทางขับเคลื่อนการศึกษาขั้นพื้นฐานในอนาคต โดยเฉพาะประเด็นการปฏิรูปครู ที่ต้องผูกติดกับการพัฒนาการเรียนการสอน และผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ขณะที่การบริหารจะไม่เน้นระบบราชการ แต่เน้นการมีส่วนร่วม รวมทั้งงบประมาณพัฒนาในอนาคตจะเน้นไปที่โรงเรียนขนาดเล็กให้มากขึ้น